วัดพระนารายณ์มหาราช


รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

    พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สังกัดมหานิกาย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2199 เมื่อครั้งย้ายเมืองหลวงมาจาก อ.สูงเนิน สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้างขึ้นมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่กลางเมืองนครราชสีมา อยู่ติดกับหลักเมือง จึงมีชื่อว่า วัดกลาง หรือ วัดกลางนคร โดยถือเอาสถานที่ตั้งเป็นสำคัญได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2204 ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 ได้รับพระราชทานยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง มีนามเต็มว่า วัดกลางนครวรวิหาร โดยมี พระเริง ปัจจามิตร และ พระยากำธร พายัพทิศ ข้าหลวงประจำจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้ขอพระราชทาน ยกวัดเป็นพระอารามหลวง ต่อมาในปี พ.ศ. 2491 วัดได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า วัดพระนารายณ์มหาราช

   ในอดีตเมื่อมีพระราชพิธีที่ข้าราชการทุกแผนกจะต้องสาบานตน ว่าตนจะรับราชการสนองพระเดขพระคุณด้วยความจงรักภักดี ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต พิธีนีเรียกว่า พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ทางราชการได้ใช้พระวิหารหลวงวัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหารเป็นสถานที่ประกอบพิธี และเคยเป็นที่ตั้งอนุเสาวรีย์บรรจุอัฐิของท้าวสุรนารี

ลักษณะวัด พัทธสีมา

ประเภทวัด พระอารามหลวง

อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญ ศาลาหอฉัน ศาลาปฏิบัติธรรม และกุฏิสงฆ์ 

การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ

1. เจ้าอธิการคง (บ้านสระทองหลาง)

2. เจ้าอธิการคง (บ้านเดิมอยู่อำเถอพิมาย)

3. พระครูสีหราช (ฉิม)

4. พระครูสีหราชสมาจารมุณี (นวน) พ.ศ. 2446-2483

5. พระครูธรรมวิจารยณ์มุณี พ.ศ. 2483-2488

6. พระมหานาค ยโสธโร พ.ศ. 2489-2491

7. พระพรหมคุณาภรณ์ (พุ่ม กิตฺติสาโร) พ.ศ. 2492-2534

8. พระธรรมวรนายก (โอภาส นิรุตฺติเมธี) พ.ศ. 2534- เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสนใจ

- แหล่งท่องเที่ยวเชิงพุทธด้านสถานปัตยกรรมและจิตรกรรม เช่น อุโบสถ ตั้งอยู่บนเกาะกลางสระรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เดิมฐานอุโบสถก่อนการบูรณะ มีลักษณะเป็นทรงเรือสำเภาหลังจากมีการบูรณะใหม่ไม่แอ่นเหมือนเดิม ที่คงของเดิม คือ ใบเสมา พระประธานเป็นปางมารวิชัย ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกซึ่งอนุรูปมาจากปางตรัสรู้ ณ มหาโพธิ์พฤกษ์มณฑลริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ต.อุรุเวฬาเสนานิคม

- พระวิหารหลวง เป็นพระวิหารที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2369 พร้อมกับการสร้างเมืองนครราชสีมา และผู้สร้างมีเจตนาให้เป็นพระประธานของวัดเพราะเป็นถาวรวัตถุใหญ่โตที่สุดในวัด สร้างไว้บนเนินตรงกลาง พระวิหารหลังเดิมได้ถูกข้าศึกทำลาย ในสมัยพระยามหาสุภาพ (อิ่ม สิงหเสนี) มาเป็นผู้ปกครองเมืองนครราชสีมา ได้มีการสร้างขึ้นใหม่ โดยมี พระทศพลญาณประทานบารมี หรือ หลวงพ่อใหญ่ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่งดงาม ถือเป็นพระประธานองค์แรกของจังหวัด ที่มีความสวยงามและใหญ่มากแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

- หลวงพ่อใหญ่ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่มีชาวโคราชและใกล้เคียงให้ความเลื่อมใสศรัทธา สักการะบูชาและอธิษฐานขอพรตามความมุ่งหวังต่าง ๆ ที่ปรารถนา การเข้าไปสักการะขอพรไม่ต้องมีพิธีรีตองสำคัญ เพียงแค่ดอกไม้ธูปเทียน และยังมีหลวงพ่อบุญหนักศักดิ์ใหญ่ พระพุทธรูปโบราณอายุกว่า 1,000 ปี ที่พบใต้ฐานพระทศพลญาณประทานบารมี โดยเชื่อว่าถ้าอธิษฐานขอพรแล้วยกองค์พระขึ้นไว้เหนือศีรษะ จะประสบผลสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนาการเข้าไปสักการะหลวงพ่อใหญ่ จะเปิดให้เข้าสักการะเฉพาะในช่วงวันสำคัญหรือวันพระ เพื่อความสะดวกของคณะสงฆ์ในการดูแลรักษาความเรียบร้อย

- พระคันธารราษฎร์ หรือ พระปางขอฝน พระคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดนครราชสีมา

- ผ้าทิพย์พระประธาน เป็นรูปสามชั้นซ้อน เขียนลายรดน้ำแบ่งเป็นสามตอน ตอนบนเป็นรูปสามเหลี่ยม หน้าจั๋วหันมุมแหมมลงด้านข้าง ในรูปสามเหลี่ยมเขียนเป็นลายรดน้ำมีจักรอยู่บนตรี ใต้ลงมาถึงตอนกลางเป็นรูปท้าวจตุโลกบาลทรงพระขรรค์ ตอนล่างเขียนเป็นรูปราชสีห์หันหน้าไปทางทิศใต้ เขียนขึ้นในคราวรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสวัดพระนารายณ์มหาราช เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2443 พระองค์เสด็จขึ้นสู่พระวิหาร มีพระราชาคณะซึ่งมาจากกรุงเทพฯ มีพระราชกวี ผู้อำนวยการศึกษาเป็นประธานสงฆ์ และมีพระครูฐานานุกรมอันดับในวัดต่าง ๆ มาประชุมพร้อมกันที่พระวิหาร เพื่อเจริญชัยมงคลคาถาถวายการรับเสด็จ เมื่อพระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินลงจากพระวิหาร ทรางพระราชดำเนินข้ามสะพานไปทอดพระเนตรพระอุโบสถ พร้อมทั้งทรงจุดธูปเทียนนมัสการพระพุทธรูปเสร็จแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพรเนตรศาลเทวรูปต่าง ๆ ซึ่งชาวเมือง เรียกว่า หอพระนารายณ์

- จิตรกรรมฝาผนัง ภายในอุโบสถเป็นภาพเรื่องพระเวสสันดร

- ใบเสมาคู่ หมายถึง มีการผูกพัทธสีมาที่ต่างวาระ ต่างนิกายในที่เดียวกัน เหมือนวัดอิสาน ฝ่ายที่มาทีหลัง เมื่อต้องการใช้พื้นที่ในเขตสังฆกรรมแห่งนั้น ไม่มีความเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ในเขตสีมาอันก่อน จึงได้ทำการสวดผูกพัทธสีมาขึ้นมาใหม่อีกครั้ง หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือ วัดในสมัยโบราณนั้นมีด้วยกัน 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายอรัญวาสี และฝ่ายคามวาสี เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น (วัดหลวง) เพื่อไม่ให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ก็จะอาราธนาพระสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่าย ให้มาร่วมผูกพัทธสีมาพร้อม ๆ กัน วัดหลวงจึงมักเห็นมีเสมา 2 ใบแต่นั้นมา

- พระเจดีย์ ตั้งคู่กับพระวิหารด้านทิศตะวันตก พระวิหารเดิมได้ถูกข้าศึกทำลายในปี พ.ศ. 2369 พร้อมกับพระวิหาร ต่อมาพันเอกพระยาประสิทธิศิลการ (สะอาด สิงหเสนี) ได้จัดการบูรณะขณะดำรงตำแหน่งเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครราชสีมา จวนจะสำเร็จแต่มีเหตุสุดวิสัย พระเจดีย์ได้พังทลายลงมา เป็นอันต้องทิ้งให้พังอยู่ไม่มีใครทำขึ้นใหม่

- ศาลพระนารายณ์มหาราช เทวรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดนครราชสีมามาช้านาน เป็นเทวรูปพระนารายณ์สี่กร ในท่ายืน สูง 17 นิ้ว สร้างด้วยหินทรายฝีมือขอม ภายในศาลมีดอกไม้ของบูชามากมาย และมีควันธูปเทียนลอยอบอวลไปทั่วบริเวณ

- โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม แผนกบาลี แผนกสามัญ

- ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์

- สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดนครราชสีมา แห่งที่ 84

- สถานที่ประกอบพิธีเสกน้ำ และพิธีอภิเษกน้ำ ในการพระราชพิธี บรมราชาภิเษก ตามโบราณราชประเพณี ในราชการที่ 10 ทำพิธี ณ พระวิหารหลวง

- ท้าวเวสสุวรรณ เชื่อว่าบูชาแล้วจะมีความเจริญในด้านลาภยศ ทรัพย์สินเงินทอง อำนาจวาสนา

หัวเรื่อง

วัดในจังหวัดนครราชสีมา

หมวดหมู่

ศาสนสถาน

คำสำคัญ

พระอารามหลวง, วัดหลวง, วัด, ท้าวเวสสุวรรณ

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:417 ถนนจอมพล ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000

รายการอ้างอิง

  1. กระทรวงศึกษาธิการ. กรมการศาสนา. (2542). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 17. กรุงเทพฯ: กระทรวง.
  2. เทิดชาย บำรุง. (2553). พลวัตการท่องเที่ยวอีสานใต้ : ค้นหารอยยิ้มร่วมสมัยแห่งกาลเวลาผ่านงานวิจัย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
  3. ภัคพิศุทธิ์ คลังกูล ... [และคนอื่น ๆ]. (2556). ผู้ว่าฯ พาเยี่ยมวัด จังหวัดนครราชสีมา ประจำปีงบประมาณ 2556. นครราชสีมา: สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา.
  4. มหัศจรรย์ พระองค์เล็ก แต่หนักมาก หลวงพ่อบุญหนักศักดิ์ใหญ่. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2562, จาก https://www.vihoknews.com/7665/