ปราสาทหินพนมวัน


รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

        โบราณสถานสมัยขอม สันนิษฐานสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เข้าใจว่าเป็นเทวาศรม เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ต่อมาดัดแปลงเป็นพุทธสถาน ตัวปราสาทหินพนมวัน สร้างเป็นปรางค์มีฉนวน (ทางเดิน) ติดต่อกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมยาว 25.50 เมตร กว้าง 10.20 เมตร พระปรางค์มีประตูซุ้ม 3 ด้าน ซุ้มประตูด้านทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประธานอภัย 1 องค์ ลักษณะศิลปะแบบอยุธยา รอบปราสาทเป็นลานกว้างมีระเบียงคดก่อด้วยหินกว้าง 54 เมตร ยาว 63.30 เมตร ประกอบด้วยประตูทางเข้า 4 ทิศ ปัจจุบันแม้จะหักพังไปมาก แต่ยังคงเห็นซากโบราณสถานหลงเหลือเป็นเค้าโครงค่อนข้างชัดเจน

สิ่งที่น่าสนใจ

ปราสาทหินพนมวัน ก่อสร้างด้วยศิลาแลงและหินทราย สภาพที่ปรากฏในปัจจุบันประกอบด้วยปรางค์ประธานหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีทางเดินเชื่อมไปยังมณฑปซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าของปรางค์ประธาน ทางด้านทิศตะวันตะเฉียงใต้ของปรางค์ประธานมีปรางค์น้อยตั้งอยู่ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหินขนาดใหญ่รอบปราสาทมีระเบียงคต สร้างด้วยศิลาแลงและหินทราย มีซุ้มประตูทั้งสี่ทิศ

เนินอรพิม อยู่ห่างจากตัวปราสาทไปทางทิศตะวันออกราว 300 ม. มีเนินดินปรากฏอยู่กับร่องรอยศิลาแลงเรียงเป็นแถวให้เห็นอยู่บ้างบางส่วน เรียกกันว่า เนินอรพิม ซึ่งเป็นชื่อจากตำนานปัญญาสชาดกอรพิม - ปาจิตต ที่เล่าขานกันสืบมากลายเป็นชื่อบ้านนามเมืองในท้องถิ่น

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว จากโคราชใช้ทางหลวงหมายเลข 2 หรือถนนมิตรภาพ (สายนครราชสีมา - ขอนแก่น) ไปทาง อ. พิมายประมาณ ๅ5 กม. จะเห็นป้ายบอกทางไปปราสาทหินพนมวัน เลยป้ายไปเล็กน้อยมีทางแยกขวามือ เลี้ยวเข้าไปตามทางลาดยางประมาณ 5 กม. จะถึงที่ตั้งปราสาทหินพนมวัน

รถโดยสาร จากตัวเมืองโคราชนั่งรถสายโคราช - พิมาย ลงที่ทางแยกพนมวัน จากนั้นนั่งมอเตอร์ไซต์รับจ้างที่ศาลาปากทางเข้า

หัวเรื่อง

สถานที่ท่องเที่ยว

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:บ้านมะค่า ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30310

รายการอ้างอิง

  1. จิตติมา ผลเสวก. (2545). นครราชสีมา. กรุงเทพฯ: สารคดี.
  2. ปราสาทหินพนมวัน. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2556, จาก http://th.wikipedia.org/wiki/ปราสาทหินพนมวัน
  3. ปราสาทหินพนมวัน. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2556, จาก http://www.rakkorat.com/125/สถานที่ท่องเที่ยวโคราช/อำเภอเมือง-นครราชสีมา/ปราสาทหินพนมวัน.html
  4. ศูนย์การท่องเที่ยว กีฬา และนันนทนาการจังหวัดนครราชสีมา. (ม.ป.ป.). คู่มือท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา. นครราชสีมา: ศูนย์.