ประวัติ
สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2476 หล่อด้วยทองแดงรมดํา ความสูง 1.85 เมตร น้ำหนัก 325 กิโลกรัม อิริยาบถยืน ประดิษฐานอยู่บนไพทีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ความสูง 2.50 เมตร ตัดผมทรงดอกกระทุ่มตามแบบอย่างสมัยรัชกาลที่ 2 แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทาน นุ่งผ้ากรองทองมีลายเชิง เสื้อกรองทอง ผ้าห่มสไบกรองทอง มือขวากุมดาบสอดอยู่ในฝักชี้ลงดิน ปลายดาบจรดพื้น มือซ้ายท้าวสะเอวลักษณะผึ่งผาย หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงเทพฯ ปั้นโดยศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี หล่อโดย พระเทวานิมิตร ในความดูแลของกรมศิลปากร
ท้าวสุรนารี มีนามเดิมว่า คุณหญิงโม ซึ่งเป็นภรรยาปลัดเมืองนครราชสีมา ท่านให้สร้างวีรกรรมไว้ให้แก่ประเทศชาติเมื่อ ปี พ.ศ. 2369 โดยท้าวสุรนารี สามารถรวบรวมชาวบ้านเข้าต่อสู้และต่อต้านกองทัพของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ไม่ให้มาตีกรุงเทพฯ เป็นผลสําเร็จ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโมเป็นท้าวสุรนารี และท้าวสุรนารียังเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง
สิ่งที่น่าสนใจ
อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เป็นรูปหล่อทองแดงรมดำ สูง 1.85 ม. หนัก 325 กก. แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทานแบบโบราณ คือ นุ่งผ้ายกทอง ห่มด้วยสไบกรองทอง มีตะกรุดพิสมรมงคลสามสายทับสไบ สวมตุ้มหู อยู่ในลักษณะมือขวากุมดาบปลายชี้ลงพื้น มือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งกรุงเทพฯ อนุสาวรีย์แห่งนี้เสร็จสมบูรณ์และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2477 และทุกวันที่ 23 มี.ค. - 3 เม.ย. ของทุกปี ชาวโคราชจะจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่โต เพื่อรำลึกถึงวันแห่งชัยชนะที่คุณหญิงโมได้นำชาวโคราชต่อสู้กับกองทัพของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์
ประตูชุมพล สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดเกล้าฯให้สร้างเมืองราชสีมาเป็นเมืองหน้าด่าน โดยช่างชาวฝรั่งเศสเป็นผู้วางผังเมือง ซึ่งมีคูน้ำคันดินล้อมเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 1,000 เมตร ยาว 1,700 เมตร ตามกำแพงเมืองมีประตูเมืองทั้งสี่ทิศคือ ประตูพลแสนอยู่ทางทิศเหนือ ประตูพลล้านด้านทิศตะวันออก ประตูไชยณรงค์ด้านทิศใต้ และประตูชุมพลด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นประตูเดียวที่เหลืออยู่ซึ่งตั้งอยู่เบื้องหลังอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เป็นองค์ประกอบที่เสริมให้อนุสาวรีย์มีความสง่างามยิ่งขึ้น
การเดินทาง
รถประจำทาง มีรถวิ่งในตัวเมืองผ่านหลายสาย เช่น รถสองแถวสาย 1 รถบัสสาย 2, 3, 6 รถปรับอากาศสาย 15 ค่ารถโดยสาร 5 - 6 บาท
สถานที่ท่องเที่ยว
ที่อยู่: | ตั้งอยู่ตรงหน้าประตูชุมพล จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นประตูเมืองเก่าทางด้านทิศตะวันตก ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000 |