ชุมชนวัดม่วง-วัดสะแก


รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

    ในสมัยอยุธยา ประมาณปี พ.ศ. 2230 ได้มีการตั้งวัดสะแก และวัดม่วงขึ้น ซึ่งแต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้ตั้งอยู่นอกเขตอำเภอเมือง มีสภาพเป็นที่ราบสูง มีป่าไม้นานาชนิดโดยเฉพาะต้นสะแกและป่าไผ่ เมื่อมีหน่วยงานทางราชการได้ย้ายมาสร้างบริเวณพื้นที่แห่งนี้ ทำให้มีความเจริญมากขึ้น สภาพสิ่งแวดล้อมเดิมเปลี่ยนไป และเมื่อมีการย้ายตัวเมืองมาบริเวณนี้ ทำให้มีการขยายตัวของผู้คนตามมา ก่อให้เกิดการค้าขายแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งเดิมเมื่อเริ่มก่อตั้งวัดนี้เป็นเพียงการนำข้าวของใช้มาแลกกัน และมีวัดเป็นศูนย์รวมของผู้คนในด้านประเพณีแต่โบราณ ทั้งเด็ก ๆ ก็ได้มาศึกษาหาความรู้ที่วัด จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2505 วัดสะแก ได้ก่อตั้งสำนักศาสนศึกษาพระปริยัติธรรม (แผนกธรรมบาลี) จนถึงปัจจุบัน

     ต่อมาในปีเดียวกันชาวบ้านเริ่มมาอาศัยอยู่บริเวณวัดเพราะทางด้านทิศตะวันออกของชุมชนได้มีการตั้งตลาดเพื่อค้าขายสินค้าจากทั่วทุกสารทิศ ปัจจุบันเรียกตลาดนี้ว่า ตลาดเทศบาล 1 จากนั้นก็มีการค้าขายเรื่อยมา

     โดยผู้คนที่มีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มแรกได้อาศัยพื้นที่ของวัดเป็นที่พักอาศัย ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานของผู้เข้ามาอาศัยดั้งเดิม ทราบเพียงว่าเป็นผู้คนทาง อ.แปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา เป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาแต่ชุมชนนี้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ ที่เข้ามาค้าขายซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพรับหมากมาจากแปดริ้ว และนำมาส่งขายให้กับทางโคราช เพราะในสมัยนั้นหมากถือเป็นสินค้าที่ขายดีมาก มีการเดินทางมาส่งวันละหลายเที่ยว และผู้คนเหล่านี้เองก็ได้มีการเริ่มมาจับจองพื้นที่ในการสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อความสะดวกในการนำหมากมาพักไว้ขาย เพื่อจะได้ไม่ต้องเดินทางหลายเที่ยว ผู้คนเหล่านี้เองทำให้เกิดที่มาของชุมชน ซึ่งพื้นที่ ๆ สร้างที่พักอาศัยอยู่กันนั้นเป็นพื้นที่ทางวัดสะแก

ที่มาของชื่อหมู่บ้าน

     เนื่องจากชาวบ้านได้เช่าที่ดิน วัดม่วง และวัดสระแก เพื่ออยู่อาศัยจึงเป็นที่มาของชื่อ "ชุมชนวัดม่วง-วัดสะแก" จนถึงปัจจุบัน

หัวเรื่อง

ชื่อบ้านนามเมือง นครราชสีมา

หมวดหมู่

ชื่อบ้านนามเมือง

คำสำคัญ

ชุมชนหมู่บ้าน

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000

รายการอ้างอิง

  1. อรัญญา มานะเอกพันธุ์. (2544). การประเมินโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง : กรณีศึกษา ชุมชนหลังวัดม่วง-วัดสะแก ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา. นครราชสีมา: สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการ สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.