บ้านศีรษะช้าง


รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

       จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ พระปรางค์ ที่ตั้งอยู่ ณ วัดปรางค์ทอง บ้านพุดซา ซึ่งมีระยะห่างจากหมู่บ้านศีรษะช้างไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร สันนิษฐานว่ากลุ่มคนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณแห่งนี้ น่าจะเป็นคนที่อพยพมาจากที่อื่น และนอกจากพระปรางค์ที่เป็นศิลปะมอญแล้ว ชุมชนแห่งนี้ยังมีพิธีการเลี้ยงผีมอญด้วย จึงกล่าวได้ว่า ชุมชนแห่งนี้เดิมทีน่าจะเป็นชาวบ้านที่อพยพมาจากทางสระบุรี ได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ บริเวณชุมชนแห่งนี้ โดยมีผู้นำหรือผู้ใหญ่ที่ถูกบันทึกชื่อเอาไว้ เช่น นายพันธ์ ชูพุดซา ช่วงดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2486-2491

ที่มาของชื่อหมู่บ้าน

       หมู่บ้านแห่งนี้เดิมชื่อว่า "บ้านหนองหัวช้าง" เนื่องจากบริเวณหมู่บ้านแห่งนี้เมื่อก่อนเป็นป่าไม้รกทึบ ท้ายป่ามีหนองน้ำ สัตว์ป่านานาชนิด ได้มาอาศัยดื่มกิน จากคำบอกเล่าประกอบกับหลักฐานที่มีอยู่จริงในปัจจุบัน ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเมื่อก่อน บริเวณหมู่บ้านแห่งนี้มีสัตว์ป่ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ ช้าง เสือ กระทิง กวาง นกต่าง ๆ ซึ่งสัตว์ต่าง ๆ เหล่านี้จะแบ่งอาณาเขตกันอยู่ชัดเจน เช่น ทิศเหนือของหมู่บ้านจะมีหนองน้ำอยู่ชื่อว่า "หนองเสือ" ทิศตะวันออกของหมู่บ้านมีหนองน้ำชื่อ "หนองแต้" (ตั้งตามชื่อของนกชนิดหนึ่ง) และมีหมู่บ้านที่อยู่ใกล้กันชื่อว่า "บ้านดอนกระทิง" ซึ่งคงเป็นที่อยู่อาศัยของกระทิงป่า และหมู่บ้านศีรษะช้างก็เช่นกัน เมื่อก่อนที่ชื่อบ้านหนองหัวช้าง เพราะท้ายหมู่บ้านมีหนองน้ำชื่อ "หนองช้าง" ที่ชื่อหนองช้างเพราะว่ามีช้างตายอยู่ที่หนองน้ำแห่งนี้ ชาวบ้านเห็นซากของช้างที่ตายอยูในหนองน้ำเป็นจำนวนมาก ก็เลยเรียกชื่อหมู่บ้านของตนเองว่า "บ้านหนองหัวช้าง" ต่อมาได้เปลี่ยนจากบ้านหนองหัวช้าง เป็น "บ้านศีรษะช้าง" ในปัจจุบัน

หัวเรื่อง

ชื่อบ้านนามเมือง นครราชสีมา

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:หมู่ที่ 10 ตำบลพุดซา อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000

รายการอ้างอิง

  1. สำเรียง นาพุดซา. (2544). การประเมินโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง : กรณีศึกษา กองทุนหมู่บ้านศีรษะช้าง. นครราชสีมา: สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.