วัดหมื่นไวย


รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

       ตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2339-2460 ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ 2524 มีเนื้อที่ 5-1-56 ไร่ โดยมีเรื่องเล่าว่า ในอดีตเป็นที่พักตั้งด่านของขุนหมื่นไวย ต่อมาได้มี พระเพชร ต้นตระกูล "ศรีหมื่นไวย" ได้เป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างพร้อมด้วยชาวบ้าน โดยสร้างพระอุโบสถ 1 หลัง ต่อมาได้ชำรุดทรุดโทรมลง พระสิริธรรมโสภณ และนายทอง ศรีหมื่นไวย ได้ก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเก่า และในปี พ.ศ. 2535 ชาวบ้านหมื่นไวย และชาวบ้านหนองนาลุ่มได้ช่วยกันสร้างเมรุ 1 หลัง

ลักษณะวัด พัทธสีมา

อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงจตุรมุข สร้างเมื่อ พ.ศ. 2519 ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2540 หอระฆัง สร้างเมื่อ 2545 ศาลาเอนกประสงค์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2554 กุฏิสงฆ์ ศาลทรงไทย ศาลาตั้งศพ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2538 และฌาปนสถาน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2535

การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ

1. พระอธิการจ้าว

2. พระอธิการจู่

3. พระอธิการทน

4. หลวงปู่ขาว

5. หลวงปู่โฮ

6. พระอธิการดำ

7. พระอธิการอยู่

8. พระอธิการเสมอ ฐิตสีโล พ.ศ. 2545-2551

9. พระครูอัครธรรมรังษี พ.ศ. 2552

10. พระครูใบฎีกาเลิศศิลป์ เตชธมฺโม

11. พระครูพินิตศุภการ ฉาย

12. พระครูอัครธรรมรังษี เจ้าอาวาสรูปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสนใจ

- อุโบสถกลางน้ำ โดยตั้งอยู่บนบริเวณที่เป็นที่ลุ่ม มีคูน้ำล้อมรอบ ก่อด้วยอิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปักใบเสมาหิน (อุโบสถน้ำไม่จำเป็นต้องปักเสมา) ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิเยก์ (ปางเลไลยก์) ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ขนาด 3 ห้อง เจาะช่องหน้าต่างขนาดใหญ่ข้างละ 2 ช่อง ด้านหน้าและหลังก่อเป็นมุขลดชั้นยื่นออกมาทั้ง 2 ด้าน มุขด้านหน้า ด้านทิศตะวันออกก่อผนังทึบเจาะช่องประตูทางเข้า 2 ช่อง และช่องหน้าต่างที่ผนังด้านข้างละ 1 ช่อง ผนังกั้นระหว่างมุขหน้ากับห้องโถงกลางเจาะช่องประตูทางเข้า 2 ช่อง และช่องหน้าต่างขนาดใหญ่ที่ผนังด้านข้างอีกข้างละ 1 ช่อง ที่ผนังกั้นโถงกลางเจาะเป็นช่องประตูเข้าสู่ห้องโถงกลาง 2 ช่อง ตรงกลางทำซุ้มปราสาทประดิษฐานเจดีย์ขนาดเล็ก (พระธาตุจุฬามณี) ไว้ภายใน หน้าบันมุขทั้ง 2 ด้าน สลักเป็นลายเครือเถาประดับกระจก ตอนล่างสุดเป็นแนวลายกระจังคั้นระหว่างหน้าบันและขอบผนัง ภายในห้องโถงกลางที่ผนังกั้นมุขตะวันตก ก่อเป็นแท่นชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิเลยก์ (ปางเลไลย์) ปูนปั้นลงรักปิดทอง ฐานอุโบสถ ก่อเป็นแนวโค้ง หย่อนท้องช้าง หรือ หย่อนท้องสำเภา ซุ้มหน้าต่างและซุ้มประตูเป็นซุ้มรูปสามเหลี่ยม ลักษณะคล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ปัจจุบันอุโบสถได้รับการขุดแต่งบูรณะ และปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถาน จากสำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา

หัวเรื่อง

วัดในจังหวัดนครราชสีมา

หมวดหมู่

ศาสนสถาน

คำสำคัญ

วัด

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:94 บ้านหมื่นไวย หมู่ที่ 2 ตำบลหมื่นไวย อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000

รายการอ้างอิง

  1. กระทรวงศึกษาธิการ. กรมการศาสนา. (2542). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 17. กรุงเทพฯ: กระทรวง.
  2. นภสินธุ์ บุญล้อม. ห้างหุ้นส่วนจำกัดไพรลดา. (2548). รายงานการขุดแต่งบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานอุโบสถวัดหมื่นไวย ตำบลหมื่นไวย อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ปีงบประมาณ 2548. นครราชสีมา: สำนักงานศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา.
  3. ภัคพิศุทธิ์ คลังกูล ... [และคนอื่น ๆ]. (2556). ผู้ว่าฯ พาเยี่ยมวัด จังหวัดนครราชสีมา ประจำปีงบประมาณ 2556. นครราชสีมา: สำนักวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา.
  4. ราชยา บุญอินทร์. พชร การเร็ว. และวรรณา หนูชมแก้ว. (2557). วัดในอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา วัดหนองหญ้างาม วัดหมื่นไวย วัดประโดก วัดเวฬุวนาราม (โคกไผ่) วัดสระบัวเกลื่อน. นครราชสีมา: สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.