วัดพายัพ


รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา        

      พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2200 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นวัดเก่าแก่ ไม่สามารถค้นหาประวัติว่าใครเป็นผู้สร้าง โดยเมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้างเมืองนครราชสีมาเสร็จแล้ว ได้ทรงสั่งบูรณะวัดที่อยู่ในกำแพงเมืองนครราชสีมา ทั้ง 6 วัด คือ

      วัดกลาง (วัดพระนารายณ์มหาราช)

      วัดบูรพ์

      วัดสระแก้ว

      วัดบึง

      วัดพายัพ 

      วัดอิสาน

ข้อสันนิษฐานรอบหลังจะมีเค้าความจริงอยู่บ้างก็เฉพาะวัดพระนารายณ์มหาราช ส่วนวัดอื่น เช่น วัดสระแก้ว ท่านท้าวสุรนารีเป็นผู้สร้าง วัดพายัพได้จดทะเบียนเป็นวัดในพุทธศาสนาตามระเบียบกรมการศาสนา พ.ศ. 2508 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ครั้งแรก เมื่อประมาณ พ.ศ. 2240 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2539

ลักษณะวัด พัทธสีมา

อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ ศาลาการเปรียญ ศาลาหอฉัน ศาลาปฏิบัติธรรม กุฏิสงฆ์ และหอกลอง-ระฆัง

การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ

1. พระครูปลัดหร่าย อินฺทโชโต พ.ศ. 2469-2507

2. พระราชวิมลโมลี (ดำรง ทิฏฐธมฺโม) พ.ศ. 2520-2559

3. พระศรีวชิรานุวัตร (พงษ์เชฏฐ์ ธีรวํโส) 27 ก.พ. 2565- เจ้าอาวาสรูปปัจจับัน

สิ่งที่น่าสนใจ

- อุโบสถ สถาปัตยกรรมประยุกต์ศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นปริศนาธรรม และอนุสรณ์แด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชผู้ทรงสถาปนาสร้างเมืองนครราชสีมา วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2530 สร้างด้วยหินอ่อน เพื่อความสวยงาม คงทนถาวร และผสมผสานวัสดุสมัยใหม่ อุโบสถมีรูปทรงแอ่น โค้งคล้ายเรือสำเภา หลังคาพระอุโบสถมีการลดชั้นเป็นจังหวะลดหลั่นกันลงไป 3 ตับ ใช้ธรรมจักรตกแต่งบริเวณซุ้มหน้าต่างรอบอุโบสถ

- พระประธานในอุโบสถ พระพุทธรูปปางปฐมเทศนาห้อยพระบาท สูง 369 ม. เนื่องจากเป็นโรงเรียนสอนพระพุทธศาสนาจึงเน้นการแสดงและการสอนธรรมะได้จำลองแบบมาจากพระพุทธรูปในถ้ำชันตา ประเทศอินเดีย

- เสมา เป็นเสมาหินปูนรูปทรงธรรมชาติ

- กำแพงแก้ว ก่ออิฐถือปูน เสากลม ทรงไทยแบบเสาตะลุงล่ามช้าง ยอดเสาลูกแก้วเม็ดทรงมัณฑ์

- กุฏิวายุภักษ์ อาคารทรงไทย 2 ชั้น ชั้นบนเป็นสำนักงานเจ้าอาวาส ชั้นล่างเป็นถ้ำหินงอกหินย้อยจำลอง ก่อด้วยอิฐถือปูน มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เป็นนกนกวายุภักษ์ ซึ่งเป็นนกประจำทิศพายัพ

- ถ้ำหินงอกหินย้อย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2533-2536 โดยพระราชวิมลโมลี ได้ออกแบบเขียนแปลน และควบคุมการก่อสร้าง โดยคัดสรรหินจากบ้านเขาวง จังหวัดสระบุรี มาจำลองธรรมชาติเสมือนจริง มีความสวยงามและสีสันวิจิตร การตกแต่งภายในถ้ำเน้นที่ความถูกต้องของการเกิดหิน ชนิดหิน การก่อตัวและโครงสร้างตามหลักธรณีวิทยา ภายในถ้ำประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณศักดิ์ของเมืองนครราชสีมา อายุกว่า 300 ปี เช่น พระพุทธรูปอุลลุกมณี มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปอินเดีย สมัยคุปตะ พระพุทธรูปสมัยทวาราวดี ลพบุรี อยุธยา อีกหลายองค์

- วงล้อธรรมจักร วัสดุหินทรายขาวแกะสลัก ศิลปะเขมร ตั้งบนแท่นกวางหมอบ เส้นผ่าศูนย์กลาง 147.5 ซม. สูง 230.5 ซม. เป็นใบเสมาหินแกะสลักเขตสีมาอุโบสถเก่าศิลปะแบบลังกา เนื่องจากกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงได้ศึกษาพระพุทธศาสนาจากประเทศศรีลังกา ใบเสมานำไปปักเขตพุทธาวาส

- พระบรมราชานุเสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในท่าประทับยืน ประดิษฐานอยู่ในศาลาทรงไทย ก่อด้วยอิฐถือปูน จัดสร้างเพื่อประกาศพระเกียรติคุณของพระองค์ว่าชาวนครราชสีมาใด้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

- อนุสาวรีย์พระศรีวราภรณ์ (พิศวง พุทฺธสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดพายัพและอดีตเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ผู้เริ่มบุกเบิกการพัฒนาวัดพายัพ เป็นรูปเสมือนจริงขนาดเท่าองค์จริง

- หอพระธรรมจักร อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงไทยประยุกต์ รูประฆังยอดโดมติดวงล้อธรรมจักร เพื่อประกาศว่าวัดพายัพเป็นศูนย์ประกาศพระธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร

- หอระฆัง สร้างเมื่อ พ.ศ 2521 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงบุษบก กว้าง 5 ม. สูง 5 ม.

- โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม-แผนกบาลี เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2511

- สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดนครราชสีมา แห่งที่ 81

เกียรติประวัติ

- วัดพัฒนาตัวอย่าง ประจำปี พ.ศ. 2509-2511

- วัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2526

การเดินทาง เริ่มต้นจากลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี การจราจรเดินรถทางเดียววนขวา ไปประมาณ 850 ม. 

หัวเรื่อง

วัดในจังหวัดนครราชสีมา

หมวดหมู่

ศาสนสถาน

คำสำคัญ

พระอารามหลวง, วัดหลวง, วัด

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:308 ถนนชุมพล-พลแสน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000
โทรศัพท์:พระมหาพงษ์เชฏฐ์ 09 0374 7677

รายการอ้างอิง

  1. กระทรวงศึกษาธิการ. กรมการศาสนา. (2542). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 17. กรุงเทพฯ: กระทรวง.
  2. ท่องเที่ยวไทย--วัดเก่าแก่โคราช--วัดพายัพ. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2556, จาก http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=tuk-tukatkorat&month=01-2011&date=09&group=40&gblog=23
  3. ประวัติวัดพายัพ. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2556, จาก http://reg2.pwa.co.th/Kathin/Temple.html
  4. วัดพายัพ-การประปาส่วนภูมิภาคเขต 2 สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2556, จาก http://reg2.pwa.co.th/Kathin/Temple.html