วัดศาลาลอย (ธ)


รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา        

      สังกัดธรรมยุต วัดตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมือง โดยแยกจากถนนรอบเมืองไป ประมาณ 500 เมตร สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต เป็นวัดเก่าแก่ตามประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่าท่านท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม) พร้อมด้วยเจ้าพระยามหิศราธิบดี สวามีของท่านเป็นผู้สร้าง เมื่อประมาณ พ.ศ. 2370 เมื่อท่านถึงแก่อนิจกรรม สวามีของท่านได้ฌาปณกิจศพ และก่อเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ที่วัดแห่งนี้นี้ เมื่อเดือน 5 ปีชวด พ.ศ. 2395        

      ปัจจุบันได้ปรับปรุง พระอุโบสถ จนมีความงดงามแปลกตา เป็นลักษณะศิลปะประยุกต์ สร้างเป็นรูปสำเภาโต้คลื่นใช้วัสดุพื้นเมือง คือ ใช้กระเบื้องดินเผาด่านเกวียนได้รับรางวัลดีเด่นแนวบุกเบิกอาคารทางศาสนา จากสมาคมสถาปนิกสยามปี พ.ศ. 2516 และรางวัลจากมูลนิธิเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป ภายในมีพระประธานปูนปั้นสีขาว ปางห้ามสมุทร เป็นพระพุทธรูปยืนประทับ ณ ประตูเมืองสังกัสนคร พระนามว่า พระพุทธประพัฒน์สุนทรธรรมพิศาล ศาลาลอยพิมาลวรสันติสุขมุนินทร์ ด้านหน้าอุโบสถเป็นสระน้ำ มีศาลากลางสระ มีปูนปั้นรูปคุณหญิงโมนั่งพนมมือ หน้าประตูอุโบสถมีปูนปั้นรูปท้าวสุรนารีนั่งพนมมือกลางสระน้ำ ตัวอุโบสถล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วรูปเสมา สัญลักษณ์ของเมืองเสมาเดิม ด้านข้างมีสถูปขนาดเล็กซึ่งเคยใช้เป็นที่บรรจุอัฐิท้าวสุรนารี วัดศาลาลอยเคยร้างไปช่วงหนึ่ง เพราะไม่มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษา อันเนื่องจากสมัยนั้นวัดตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองห่างไกลชุมชน อีกทั้งเกิดน้ำท่วมขังในฤดูน้ำหลาก ยากลำบากในการประกอบกิจสงฆ์ ต่อมาคณะสงฆ์และชาวเมืองโคราชได้ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2481 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 มีเนื้อที่ 11 ไร่ 99 ตาราวา

ลักษณะวัด พัทธสีมา

ประเภทวัด วัดราษฎร์

อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2510 หอฉันภัตตาหาร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2536 ศาลาบำเพ็ญกุศลพร้อมด้วยโรงครัว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2537 ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2537 กุฏิสงฆ์ และอาคารสำนักงานเจ้าคณะจังหวัด อาคารทรงไทยคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2546

การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ

1. พระครู โสภณธรรมประดิษฐุ์ พ.ศ. 2500-2506

2. พระมี สุทธจิตฺโต พ.ศ. 2507-2513

3. พระเทพรัตนดิลก (วิจิตร จิตฺตทนฺโต) พ.ศ. 2514-2567

4. พระมงคลรัตนสุธี (สุข สุขจิตฺโต) 29 ก.ค. 2567- รักษาการเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสนใจ แหล่งท่องเที่ยวเชิงพุทธด้านรูปเคารพและวัตถุมงคล เช่น

- ท้าวเวสสุวรรณ องค์สูงขนาด 5 เมตร หนัก 9 ตัน ตั้งประดิษฐานบริเวณด้านหลังอุโบสถ เพื่อให้ท่านได้กราบไหว้ขอพรโดยมีความเชื่อกันว่า ผู้ที่บูชาท้าวเวสสุวรรณ หากอยู่ในศีลธรรม รักษาความดี ท่านจะป้องกันภัยจากสิ่งต่าง ๆ และยังช่วยให้เกิดโชคลาภ ร่ำรวยเงินทอง มีวาสนา

- กำแพงแก้ว รูปสามมิติเป็นศิลปะร่วมสมัยเรียงรอบอุโบสถ ซึ่งสื่อถึง เมืองเสมา (ชื่อเมืองนครราชสีมาเดิม) ลักษณะใบเสมาแฝดสีแดงติดกันไม่แยกออกจากกันเหมือนสมัยโบราณ นับว่าเป็นพัฒนาการศิลปะบนใบเสมา ที่ผู้ออกแบบมีความเข้าใจศึกษาเป็นมาแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นศิลปะสมัยใหม่ได้อย่างสวยงาม

- อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ประดิษฐานในศาลากลางสระน้ำหน้าโบสถ์หลังใหม่ เป็นรูปหล่อท้าวสุรนารีในท่านั่งพนมมือไหว้พระฟังธรรมเทศนา ใต้ซุ้มส่วนบนอาคารบรรจุอัฐิบางส่วนของท่านไว้ด้วย

- อุโบสถหลังใหม่ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2510 ได้รับรางวัลดีเด่นแนวบุกเบิกอาคาร จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และรางวัลจากมูลนิธิเสถียรโกเศศและนาคะประทีป ในปี พ.ศ. 2516 ผู้ออกแบบคือ วิโรฒ ศรีสุโร เป็นอุโบสถที่สร้างชื่อเสียงให้วัดศาลาลอย ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ต่างจากโบสถ์ทั่วไป คือเป็นอาคารตึกคอนกรีตลักษณะคล้ายเรือสำเภากำลังโต้คลื่น ผนังด้านนอกเป็นภาพนูนต่ำทำด้วยกระเบื้องดินเผาด่านเกวียน ผนังด้านหน้าเป็นภาพพุทธประวัติตอน "มารผจญ" ผนังด้านหลังเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนบานประตูโดยรอบประดับด้วยแผ่นโลหะดุนลายเป็นภาพเวสสันดรชาดก ภายในประดิษฐานพระประธานปูนปั้นสีขาวปางห้ามสมุทร ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชได้ทรงถวายพระนามว่า พระพุทธประพัฒน์สุนทรธรรมศาลา ศาลาลอยพิมาณวรสันติสุขมุนินทร์

- อุโบสถเก่า คุณหญิงโมได้สร้างไว้เมื่อปี พ.ศ. 2370 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง ไม่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมพิเศษอันใด ทว่านับเป็นโบราณสถานสำคัญที่มีคุณค่าด้านจิตใจสำหรับชาวโคราช โบสถ์หลังนี้เคยร้างปรักหักพังในช่วงที่ไม่มีภิกษุจำพรรษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 พระราชวรญาณ เจ้าอาวาสวัดศาลาลอยจึงได้ร่วมแรงร่วมใจกับพระสงฆ์และประชาชนทำการปฏิสังขรณ์ด้วยการเทคอนกรีตเสริมเหล็กรอบบริเวณอุโบสถ และมุงหลังคาใหม่เพื่อเป็นการรักษาสิ่งที่ย่าโมได้สร้างไว้

- เจดีย์บรรจุอัฐิท้าวสุรนารี หลังจากเจดีย์บรรจุอัฐิท้าวสุรนารีองค์เดิมที่เจาพระยามหิศราธิบดีสร้างไว้เมื่อ พ.ศ. 2395 ชำรุดทรุดโทรมลง ในปี พ.ศ. 2481 ที่มีการปฏิสังขรณ์วักศาลาลอย ชาวโคราชจึงร่วมกันสร้างสถูปขึ้นใหม่บรรจุอัฐิย่าโมไว้ ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของอุโบสถ์หลังใหม่ ชาวโคราชมักมาสักการบูชากันเป็นประจำ - ลานปฏิบัติธรรม ลักษณะเทคอนกรีตปูด้วยหินอ่อน - สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดนครราชสีมา แห่งที่ 160

- ศาลามณฑปหมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กปูด้วยหินแกรนิต

- เสมา รูปสามแฉก ตั้งอยู่บนฐานสามเหลี่ยม มีหน้าครุฑอยู่ระหว่างแฉกของใบเสมาคล้ายนาค 5 เศียร ออกมาแผ่พังพานอยู่ชายด้านล่างของกลีบใเสมาทั้ง 3 ด้าน เรียกว่า "นาคสะดุ้ง"

ตำนานและความเชื่อ     

      มีเรื่องเล่าสืบทอดต่อกันมาว่าหลังจากเสร็จศึกสงครามกับกองทัพเมืองเวียงจันทน์ ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองพิมาย ขณะยกพลกลับเข้าเมืองโคราช คุณหญิงโมคิดจะสร้างวัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศล และเป็นอนุสรณ์แก่พี่น้องชาวโคราชที่เสียชีวิตในการสู้รบ จึงได้ทำแพจากใบตองกล้วยเป็นรูปศาลา แล้วปล่อยให้ลอยไปตามลำตะคอง พร้อมกับอธิฐานว่า หากแพลอยไปติดที่ใดก็จะสร้างวัดที่นั้น ในที่สุดแพก็ลอยมาติด ณ ฝั่งขวาของลำตะคอง ซึ่งเป็นที่ตั้งวัดศาลาลอยปัจจุบัน     

      ชาวโคราชและชาวต่างถิ่น จะเดินทางไปไหว้เจดีย์บรรจุอัฐิย่าโมที่วัดศาลาลอยนี้ เพื่อบนบานขอพรย่าโมให้ปกป้องคุ้มครอง และมีความเชื่อว่า ย่าโม จะสามารถดลบันดาลให้สมหวังได้ในที่สุด และเมื่อได้รับความสำเร็จดังใจอธิษฐานแล้ว ก็มักจะแก้บนด้วยเพลงโคราช ซึ่งที่วัดศาลาลอยนี้ก็เป็นอีกที่หนึ่งที่มีเวทีเพลงโคราช แต่งตัวสวยงามรอแสดงตามที่ว่าจ้าง เพราะเชื่อว่าย่าโมชอบฟังเพลงโคราชเป็นชีวิตจิตใจ

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว จากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีย์ ใช้ถนนชุมพล ออกไปถนนมิตรภาพ ซึ่งเป็นถนนรอบเมืองเส้นที่จะไปบุรีรัมย์ ขับตรงไปจนถึงทางโค้งจะพบทางเข้าวัดทางซ้ายมือ เข้าไปประมาณ 500 ม. 

หัวเรื่อง

วัดในจังหวัดนครราชสีมา

หมวดหมู่

ศาสนสถาน

คำสำคัญ

วัด, อุโบสถ, ท้าวเวสสุวรรณ

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:205 ถนนรอบเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000

รายการอ้างอิง

  1. กระทรวงศึกษาธิการ. กรมการศาสนา. (2542). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 17. กรุงเทพฯ: กระทรวง.
  2. คณะสงฆ์วัดศาลาลอย อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา. (2553). ประวัติพระเทพรัตนดิลก. นครราชสีมา: วัดศาลาลอย อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา.
  3. จิตติมา ผลเสวก. (2545). นครราชสีมา. กรุงเทพฯ: สารคดี.
  4. เทิดชาย บำรุง. (2553). พลวัตการท่องเที่ยวอีสานใต้ : ค้นหารอยยิ้มร่วมสมัยแห่งกาลเวลาผ่านงานวิจัย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). 
  5. วัดศาลาลอย. สืบค้นเมื่อ 3 กรกฎาคม 2562, จาก http://www.watsalaloi.org
  6. ศูนย์การท่องเที่ยว กีฬา และนันทนาการจังหวัดนครราชสีมา. (ม.ป.ป.) คู่มือท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา. นครราชสีมา: ศูนย์. สถาบันราชภัฏนครราชสีมา. ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม. ของดีโคราช เล่มที่ 2 สาขาศิลปะและภาษา. นครราชสีมา: สถาบัน.