วัดสะแก


รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

      พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2230 ได้รับพระราชทานยกฐานะ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2529 สังกัดมหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2524 เป็นวัดที่สร้างในสมัยอยุธยา ประมาณปี พ.ศ. 2230 ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับผู้ก่อตั้ง เข้าใจว่าประชาชนร่วมใจกันสร้าง เป็นวัดที่ได้รับการพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองมากวัดหนึ่ง ตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง มีถนนราชดำเนิน และถนนสุรนารี เป็นทางคมนาคม ซึ่งแต่เดิมบริเวณนี้เป็นที่ราบสูงมีป่าไม้นานาชนิด โดยเฉพาะต้นสะแกมีจำนวนมาก

ลักษณะวัด พัทธสีมา

ประเภทวัด พระอารามหลวง

อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2519 ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2513 กุฏิสงฆ์ ศาลาบำเพ็ญการกุศล เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก และฌาปนสถาน สร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2509 

การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ

1. พระอธิการคง

2. พระอธิการไม้ คงฺคปญฺโญ

3. พระสิริธรรมโสภณ (จันทร์ สิริจนฺโท) พ.ศ. 2503

4. พระครูปริยัติธรรมโชติ (จรัส จนฺทโชโต)

5. พระโสภณปริยัติวิธาน (สนั่น รตนโชโต) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสนใจ

1. แหล่งท่องเที่ยวเชิงพุทธด้านสถานปัตยกรรมและจิตรกรรม เช่น

- งานปั้นปูนนูนต่ำระเบียงคต ช่างฝีมือนายฉัตร พงษ์หมื่นไวย มีขนาด 4 x 6 เมตร ด้านทิศตะวันตก มี 8 ภาพ เล่าเรื่องสถานที่สำคัญของพระพุทธศาสนา 6 แห่ง ได้แก่ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม พระบรมธาตุเจดีย์จังหวัดนครศรีธรรมราช พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) กรุงเทพฯ พระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี พระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน และอีก 2 ภาพเล่าเรื่่องพระสุธนและสัตว์ป่าหิมพานต์ ด้านทิศเหนือ มี 8 ภาพ เล่าเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธองค์ ได้แก่ ตอนชนะมาร ทรมานยักษ์ ทรมานช้างนาฬาคีรี ทรมานนาจิญจมานวิกา ทรมานรสัจจะกะนิครนถ์ ทรมานนันโทปะนันทะนาคราช และโปรดพรหมโลก

- อุโบสถ ขนาด 2 ชั้น สร้างแบบจตุรมุข มีมุข 4 มุข มีจั๋ว 4 ด้าน และมียอดมณฑป ที่สวยงาม

- โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม-บาลี

- โรงเรียนอนุบาล เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2538

- ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัด เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2532

- ห้องสมุด

- สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดนครราชสีมา แห่งที่ 83

หัวเรื่อง

วัดในจังหวัดนครราชสีมา

หมวดหมู่

ศาสนสถาน

คำสำคัญ

พระอารามหลวง, วัดหลวง, วัด

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:22 ถนนสุรนารี ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000

รายการอ้างอิง

  1. กระทรวงศึกษาธิการ. กรมการศาสนา. (2542). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 17. กรุงเทพฯ: กระทรวง.
  2. เทิดชาย บำรุง. (2553). พลวัตการท่องเที่ยวอีสานใต้ : ค้นหารอยยิ้มร่วมสมัยแห่งกาลเวลาผ่านงานวิจัย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
  3. สถาบันราชภัฏนครราชสีมา. ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม. ของดีโคราช เล่มที่ 2 สาขาศิลปะและภาษา. นครราชสีมา: สถาบัน.
  4. สุดารัตน์ ทองคำเภา. สุดารัตน์ หวังหามกลา. วิรัญญา ตุ้มทอง. (2557). วัดหนองจอก วัดลองตอง วัดหนองบัว วัดพนมวันท์ และวัดสะแก. นครราชสีมา: สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.