วัดหลักร้อย


รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

    ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2443 สังกัดมหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรก (อุโบสถหลังเก่า) เมื่อ พ.ศ. 2449 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2520 ผู้บริจาคที่ดินสร้างวัด คือ นายน้อย นายเกิด นายปาน นางทอง นางทิม นางนกเทศ นางแจ้ง จงพิมาย นายเปลื้อง นางเคลือบ และนางเลี่ยม ปราบจะบก ถวายเพิ่มในภายหลัง รวมเนื้อที่ 16 ไร่ 10 ตารางวา โดยพระอธิการยัง เจ้าอาวาส เป็นผู้นำการก่อสร้างวัด และได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2449 เหตุที่ได้นามว่า "วัดหลักร้อย" เนื่องมาจากระยะทางจากอนุสรณ์สถานท้าวสุรนารี มาถึงสถานที่ตั้งวัด วัดได้ระยะทาง 100 เส้น สถานที่แห่งนี้เคยเป็นสถานที่ตั้งค่ายของทหารอเมริกา เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2

ลักษณะวัด พัทธสีมา

ประเภทวัด วัดราษฎร์

อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2512 ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารครึ่งไม้ครึ่งตึก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2506 วิหาร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2523 วิหารปฏิบัติธรรม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2536 ศาลาบำเพ็ญกุศล และกุฏิสงฆ์

การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ

1. พระยัง

2. พระหมวก

3. พระเฉย

4. พระอินทร์

5. พระสีหราชมงคลมุนี

6. พระครูประภัสธรรมสาร พ.ศ. 2501-2508

7. พระหล่ำ สุขเปโม พ.ศ. 2508-2515

8. พระสมุห์แก้ว เตชปญฺโญ พ.ศ. 2515-2524

9. พระครูขันติ วราภรณ์ พ.ศ. 2524-2537

10. ผศ. ดร. พระครูสังวราภิรักษ์ สวโร พ.ศ. 2537- เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสนใจ

- แหล่งท่องเที่ยวเชิงพุทธด้านสถานปัตยกรรมและจิตรกรรม เช่น จิตรกรรมฝาผนังปูน จิตรกรรมฝาผนังยุคใหม่ เขียนช่วงหลัง พ.ศ. 2500 เป็นภาพเขียนศิลปะไทยร่วมสมัยที่สวยงาม สีที่ใช้เป็นสีพลาสติก

- โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม

- สวนสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มาออกกำลังกาย

- สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดนครราชสีมา แห่งที่ 3

- วัดชนะเลิศโครงการวัดโคราช สะอาด

หัวเรื่อง

วัดในจังหวัดนครราชสีมา

หมวดหมู่

ศาสนสถาน

คำสำคัญ

วัด

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:บ้านหลักร้อย ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000

รายการอ้างอิง

  1. กระทรวงศึกษาธิการ. กรมการศาสนา. (2542). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 17. กรุงเทพฯ: กระทรวง.
  2. เทิดชาย บำรุง. (2553). พลวัตการท่องเที่ยวอีสานใต้ : ค้นหารอยยิ้มร่วมสมัยแห่งกาลเวลาผ่านงานวิจัย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
  3. สถาบันราชภัฏนครราชสีมา. ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม. ของดีโคราช เล่มที่ 2 สาขาศิลปะและภาษา. นครราชสีมา: สถาบัน.