ประตูเมืองนครราชสีมา


รายละเอียด

ประตูเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เป็นเมืองเก่าแก่ ที่ปัจจุบันมีความเจริญเป็นอย่างมาก ได้รับขนานนามว่าเป็น "ประตูสู่ภาคอีสาน" คำพูดนี้มิใช่เป็นฉายาที่เรียกกันในปัจจุบันเท่านั้น แต่ทว่ามีการกล่าวขานกันมานานแล้ว เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่านที่มีไว้ป้องกันข้าศึกรุกรานสู่เมืองอยุธยา และเป็นทางผ่านสำหรับการคมนาคม ค้าขาย ไปยังเมืองต่างๆของภาคอีสาน ปัจจุบันประตูเมืองนครราชสีมารวมทั้ง กำแพงเมือง และคูเมือง เป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของตัวเมืองนครราชสีมา ที่ยังพบเห็นอยู่ ประตูเมืองนั้นได้ก่อสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ปัจจุบันยังคงมีประตูชุมพลที่ยังคงรูปลักษณ์เดิมอยู่ได้ และนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของนครราชสีมา

ประวัติความเป็นมา ในสมัยแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199 - พ.ศ. 2231) มีพระราชดำริว่า ดินแดนภาคอีสานเป็นฉนวนป้องกันการรุกรานของขแมร์ (เขมร) ลาว ญวน และเป็นหัวเมืองใหญ่ควบคุมเขมรป่าดงที่ขึ้นแก่ไทย ขณะนั้น มีเมืองเสมา เมืองโคราช และเมืองพิมาย เป็นชุมชนใหญ่ ควรจะตั้งเป็นหน้าด่านได้ จึงโปรดให้สร้างเมืองที่มีป้อมปราการแบบฝรั่ง ในฐานะเมืองสำคัญชายพระราชอาณาเขต โดยเกณฑ์ช่างจากกรุงศรีอยุธยา เกณฑ์แรงงานจากเมืองโคราช กับเมืองเสมา ช่วยกันสร้างเมืองใหม่ ห่างจากเมืองโคราชเก่าในท้องที่ อำเภอสูงเนิน ไปทางทิศตะวันออก 800 เส้น (32 กิโลเมตร) ซึ่งก็คือ พื้นที่ตัวเมืองเก่า บริเวณเขตกำแพงเมือง และคูเมืองในปัจจุบัน

คูเมืองปัจจุบัน ในตอนนั้นมีนายช่างชาวฝรั่งเศสเป็นผู้วางผังเมือง ผังเมืองมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม รูปกลองชัยเภรี มีความกว้างประมาณ 1,000 เมตร (มาตราวัดของไทย : 25 เส้น) ยาวประมาณ 1,700 เมตร (มาตราวัดของไทย : 43 เส้น) มีพื้นที่ภายในประมาณ 1,000 ไร่ ( 1.60 ตารางกิโลเมตร) ขุดคูกว้าง 20 เมตร (10 วา) และลึก 6 เมตร (3 วา) ยาวล้อมรอบเมือง มีโครงข่ายถนนภายใน ตัดกันมีรูปแบบเป็น ตารางหมากรุก (Grid pattern system) ก่อสร้างกำแพงเมือง โดยก่ออิฐขึ้นจากหินศิลาแลง มีความสูง 6 เมตร (3 วา) ยาวโดยรอบ 5,220 เมตร (2,610 วา) บนกำแพงมีใบเสมาโดยรอบ จำนวน 4,302 ใบ เดิมนั้น ก่อนการก่อสร้างกำแพงเมือง ใบเสมาบนกำแพง ได้ออกแบบไว้ให้มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมตามแบบของฝรั่ง แต่ต่อมาเมื่อมีการก่อสร้าง พระยมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมา ได้เปลี่ยนแปลงลักษณะใบเสมาให้เป็นแบบของไทยแทน บริเวณกำแพงมีป้อมประจำกำแพง และป้อมตามมุมกำแพงรวม 15 ป้อม มีประตูเมืองกว้าง 3 เมตร (1 วา 2 ศอก) จำนวน 4 ประตู โดยประตูเมืองทั้ง 4 เป็นทางเข้าออกเมืองทั้งสี่ทิศ บริเวณซุ้มประตูเมือง จะมีหอยามรักษาการณ์ - เชิงเทิน รูปแบบเป็นทรงไทยโบราณ ศิลปะสมัยอยุธยา หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้าใบระกาเหมือนกันหมดทุกแห่ง มีชื่อเรียกประตูเมืองทั้ง 4 นี้ว่า ประตูชุมพล ประตูพลแสน ประตูพลล้าน ประตูไชยณรงค์ เมื่อระยะเวลาผ่านไป สิ่งก่อสร้างบางอย่างได้ถูกทำลายลง เมื่อครั้งที่ได้เกิดศึกกับเจ้าอนุวงศ์ แห่งกรุงเวียงจันทน์ ที่ได้เข้ามายึดเมืองนครราชสีมา กอร์ปกับส่วนหนึ่งถูกสภาพภูมิอากาศ และ ภัยธรรมชาติ เช่น แสงแดด ลม และ ฝน ทำลายเสียหายไปบ้าง ทำให้ทรุดโทรมลง เหลือแต่เพียง ประตูเดียวก็คือ ประตูชุมพล ที่ยังหลงเหลือโครงสร้างเดิมไว้อยู่

ประตูชุมพล - ประตูเมืองทางทิศตะวันตกของเขตเมืองเก่า เป็นประตูเมืองเพียงแห่งเดียว ในบรรดาประตูเมืองทั้งหมด 4 ประตูของเมืองนครราชสีมา ที่ยังคงสภาพเดิมอยู่พร้อมกำแพงเมืองเก่า ซุ้มประตูก่อด้วยอิฐก้อนใหญ่แล้วต่อเป็นกำแพงออกไปทั้ง 2 ข้าง เหนือกำแพงตรงช่องประตู มีเรือนไทยหลังเล็กๆอยู่หลังหนึ่ง ทำด้วยไม้แก่น เรียกว่า “หอรบ” หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา กำแพงที่ต่อออกไปทั้ง 2 ข้าง ส่วนบนทำเป็นรูปใบเสมา สำหรับ ชื่อประตู "ชุมพล" นั้นหมายความถึง ที่ชุมนุมพลส่วนใหญ่ เป็นประตูสำหรับเตรียมไพร่พล และออกศึก เนื่องจากมีภูมิประเทศเปิดกว้าง ไม่มีป้อมปราการตามธรรมชาติเหมือนประตูอื่น ๆ ในอดีตมีความเชื่อว่า เมื่อลอดผ่านประตูชุมพลไปทำศึกแล้ว จะแคล้วคลาดได้กลับบ้านเมือง อนึ่งประตูชุมพล ทางกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480 และ กำแพงเมืองโคราช ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479 เนื่องจากตัวเมืองปัจจุบัน ได้มีขยายออกไปยังบริเวณรอบนอกไปทางทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตกของเขตเมืองเก่าเดิม ส่งผลทำให้ปัจจุบัน ประตูชุมพลจึงเสมือนตั้งอยู่กลางเมือง ต่อมาทางหน่วยราชการของจังหวัดนครราชสีมาได้สร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี(ย่าโม) แล้วนำมาประดิษฐานบนแท่นสูง ตรงบริเวณหน้าประตูชุมพล ซึ่งได้มีการถมคูเมืองทางด้านทิศตะวันตกบางส่วน เพื่อทำเป็นพื้นที่ก่อสร้าง สำหรับ หอ ยามรักษาการณ์ทรงไทย, ประตูเมือง และกำแพงเมืองโบราณที่ชำรุดทรุดโทรมพังลงไปมากนั้น ทางราชการได้บูรณะซ่อมแซม และสร้างขึ้นมาใหม่บางส่วน โดยคงไว้ซึ่งรูปแบบและศิลปะการก่อสร้างตามของเดิมไว้ทั้งหมด พร้อมกับได้อัญเชิญ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ทั้งหมดมาสร้างและตั้งขึ้น ณ บริเวณที่ปัจจุบัน ตราบเท่าทุกวันนี้

ประตูพลแสน - ประตูเมืองทางทิศเหนือ เรียกกันทั่วไปว่า "ประตูน้ำ" เป็นเพราะประตูนี้หันหน้าสู่ ลำตะคอง ซึ่งเป็นคลองกั้นคูเมืองอีกชั้นหนึ่ง เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล ในอดีตจะใช้ลำตะคองในการชลประทาน และเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ สำหรับชื่อประตู "พลแสน" นั้นหมายถึง ต้องมีกำลังพลถึงแสนหนึ่ง จึงจะสามารถบุกเข้ามายังประตูนี้ได้

ประตูพลล้าน - ประตูเมืองทางทิศตะวันออก ชาวเมืองเรียกประตูนี้ว่า "ประตูตะวันออก" หรือ "ประตูทุ่งสว่าง" แต่เดิม ทิศนี้มีบึงใหญ่ที่เรียกว่า "บึงทะเลหญ้าขวาง" มีพื้นที่กว้างไม่น้อยกว่า 10 ตารางกิโลเมตร ส่วนกลางเป็นบึงใหญ่ และมีพื้นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์พาหนะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ "วัดทุ่งสว่าง" สำหรับชื่อประตู "พลล้าน" นั้น นัยว่าเพื่อเป็นการข่มขวัญข้าศึก ที่ถึงจะยกทัพมาสักล้าน ก็ยังต่อสู้ได้

ประตูไชยณรงค์ (ประตูผี) - ประตูเมืองทางทิศใต้ ชาวเมืองเรียกประตูนี้ว่า "ประตูผี" เนื่องจากในอดีต มีประเพณีความเชื่อว่า เมื่อมีคนตายขึ้นในเมือง ห้ามมีการเผา หรือฝังเอาไว้ในเมือง ให้ออกไปจัดการกันที่นอกเมือง โดยให้นำศพผ่านออกทางประตูนี้เพียงประตูเดียว นอกจากนั้นแล้ว ทางทิศใต้นี้ยังมีบึงใหญ่ มีชื่อเรียกว่า "หนองบัว" สำหรับชื่อประตู "ไชยณรงค์" นั้น เนื่องมาจาก เมื่อยามเกิดศึกสงคราม ประตูนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ยากต่อการโจมตีของข้าศึก เพราะภูมิประเทศด้านนี้ เต็มไปด้วยหนองน้ำขนาดใหญ่ และเล็ก แต่ในปัจจุบัน หนองน้ำเหล่านั้นได้ถูกถมไปหมดแล้ว

ปัจจุบัน ประตูเมือง 3 ประตู ได้แก่ ประตูพลแสน ประตูพลล้าน และประตูไชยณรงค์ ได้มีการบูรณะ และก่อสร้างใหม่ โดยทำการรื้อถอนประตูเมืองและกำแพงเมืองเดิมที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ในลักษณะของซุ้มประตูทั้ง 3 นั้น ได้ออกแบบลักษณะเป็นศิลปะร่วมสมัย โดยยึดเค้าโครงเดิมของประตูเมือง และกำแพงเมืองแบบเดิม ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่ก่อสร้างซุ้มประตูใหม่นั้น พื้นที่ตัวเมืองมีการขยายเพิ่มขึ้น และได้มีการขยายถนนออกไป ในอดีตซุ้มประตูในแบบเดิม (แบบประตูชุมพล) จะมีขนาดที่แคบ เพื่อให้เหมาะสมกับปัจจุบันจึงทำให้การออกแบบซุ้มประตูมีความกว้างเพื่อรองรับกับการจราจรและรถยนต์ที่ สัญจรเข้าออกผ่านซุ้มประตูเมืองทั้ง 3 เป็นอย่างดี

ในวันที่ 23 มีนาคม-3 เมษายน ของทุกปี ทางจังหวัดนครราชสีมาจะมีการจัดงานเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี โดยไฮไลน์เด่นของงาน ได้แก่การจุดพลุ 4 มุมเมือง ณ ประตูเมืองทั้ง 4 ด้านอย่างยิ่งใหญ่ ตระการตา และนักท่องเที่ยวทั่วไป ถ้ามีโอกาสไม่ควรพลาดที่จะมาชมซักครั้ง

หัวเรื่อง

สถานที่ท่องเที่ยว

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000

รายการอ้างอิง

  1. ประตูเมืองนครราชสีมา. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2556, จาก http://www.khaoyaizone.com/นครราชสีมา-อำเภอเมือง-ประตูเมือง-ประตูชุมพล-ประตูพลแสน-ประตูพลล้าน-ประตูไชยณรงค์-ประตูผี
  2. ประตูเมืองนครราชสีมา. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2556, จาก http://koratcity.no-ip.org/tourist/Gate.html
  3. ประตูเมืองนครราชสีมา. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2556, จาก http://th.wikipedia.org/wiki/ประตูเมืองนครราชสีมา