สวนลุงโชค


รายละเอียด

18 ปี มาแล้วที่เจ้าของสวนเล็กๆ แห่งหนึ่งบริเวณ "สะดือดง" ของผืนป่าดงพญาเย็น แถบอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำลำพระเพลิง ลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล ซึ่งได้ตัดสินใจเป็น กบฏ หันหลังไม่ให้การพัฒนากระแสหลัก ลากเดินไปสู่ความประมาท สู่การเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิต การดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากกระแสหลักสังคม หลังจากที่ได้ทบทวนตนเอง เรียนรู้ด้วยประสบการณ์ชีวิต จากความผิดพลาดของตนเอง และการวิ่งตามระบบเกษตรกรรมกระแสหลัก จนชีวิตเกือบล้มละลาย จากการยึดคติ "งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข" ทั้งๆ ที่มีวิชาความรู้มากมายในวิชาเกษตรที่ได้เรียนมาจากมหาวิทยาลัย มีความเฉลียวฉลาด ความมุ่งมั่น หมั่นเพียร เงินทุน เทคโนโลยีพร้อม แต่กลับช่วยอะไรไม่ได้เลย ยิ่งลงทุนเพิ่มก็ยิ่งขาดทุนมากขึ้น เกิดหนี้สิน ไม่ต่างจากเกษตรกรรายอื่นๆ หาทางออกไม่พบ เป็นข้อฉงนที่ทำให้คิดว่าเหตุใดจึงยังล้มเหลว ขาดทุน ยิ่งดิ้นยิ่งติดหล่ม หลังจากกลับมาตั้งสติ คิดทบทวนตนเอง ทำให้มองเห็นข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นของตนเอง รวมถึงการเดินทางไปเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความคิด เพื่อเรียนรู้ตนเอง จากการเรียนรู้ผู้อื่น ทำให้เห็นโลกกว้างมากกว่าชีวิต และสังคมแคบๆ ที่ตนเองอยู่ จึงเกิดการรู้เท่าทันในระบบเกษตรแผนใหม่ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต จากชีวิตเคยอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ เลี้ยงชีวิตโดยไม่ต้องซื้อ อยู่ด้วยมูลค่า มากกว่าคุณค่า จนขาดซึ่งการเรียนรู้ และระบบการพึ่งพิงตนเอง ตกผลึกทางความคิดออกมาสู่ วนเกษตร ความเป็นจริงของการแก้ปัญหาชีวิตได้ เริ่มหันกลับไปรื้อฟื้น ค้นหา สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น จากรากฐาน รากเหง้าชีวิตเดิม นำแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาที่นำไปสู่การพึ่งตนเอง มาปรับใช้ เรียนรู้ เน้นการพึ่งพิงตนเอง ต่อสู้ทางความคิด และการมีกินมีใช้อย่างยั่งยืน ทำรายจ่ายให้เป็นรายได้ ปลูกทุกอย่างที่กินได้ และกินทุกอย่างที่ปลูกได้ ด้วยหลักคิดใหม่ "เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง" เน้นมีกินเป็นพื้นฐาน ฟื้นฟูป่า ฟื้นฟูความหลากหลาย และความอุดมสมบูรณ์ให้กลับคืน ปลูกต้นไม้ทดแทนคุณแผ่นดิน สร้างหลักประกัน สวัสดิการชีวิต เกิดธนาคารต้นไม้ และการออม ดิน น้ำ มีหลักในการพึ่งตนเองได้ มีอิสระ เป็นไทแก่ตัว ใกล้ชิดธรรมชาติการตกผลึกทางความคิด จนพบทางรอด และความเป็นอิสระเป็นไทแก่ตัวเอง มุ่งสู่ความสุขที่แท้จริง เพราะที่ผ่านมาคิดว่า การพัฒนาเหมือนเราต้องการไปสู่ความสุข ความสมบูรณ์ แต่ยิ่งทำก็ยิ่งได้รู้ว่าเป็นเพียงความสุขแค่เพียงชั่วคราว และธรรมชาติก็ยิ่งถูกทำลายมากขึ้น รวมถึงมีการพัฒนาระบบคิด จนไม่ใช่เรื่องเทคนิคทางการเกษตร แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ เป็นปรัชญาที่ให้ทางออกแก่ชีวิต

จากคนเคยล้มเหลว เกือบล้มละลาย เมื่อ 16 ปีที่แล้ว เมื่อเจอทางออกที่ดี มีความพร้อม จากการสะสมทุนประกอบกับเมื่อมีโอกาส จึงได้นำบทเรียน ความรู้ วิธีคิด มาสร้างกระบวนการเรียนรู้ ฟื้นระบบการศึกษา คืนความรู้ สู่สังคมขยายการเรียนรู้ เอื้อเฟื้อ แบ่งปันกับผู้อื่นบ้าง ให้โอกาสกับเด็กที่ด้อยโอกาส ให้คนมาคิดเรื่องของการเกื้อกูล อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รู้จักบุญคุณคน เคารพในธรรมชาติ ซึ่งการคืนไม่ใช่เรื่องการทำตามกระแส เกิดมานานแล้ว แต่เพิ่งจะมีโอกาส เป็นจังหวะและโอกาสที่ดี ในรูปของ ศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน สนับสนุนการจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้ลงถึงระดับชุมชน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ ปัญหาปัจจุบันที่เข้ามากระทบต่อชีวิต ในนาม "แหล่งเรียนรู้การเกษตรเพื่อการพึ่งตนเองและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น" หรือที่เหล่าเด็กมักเรียกว่า สวนลุงโชค ตลอดระยะเวลา 7 ปี

ปัจจุบันสวนลุงโชค เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนและศึกษาดูงานใน เรื่องการเกษตรทางเลือก ที่สอดคล้องกับแนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างสมดุล ยั่งยืน ในพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งมีบทเรียนที่อธิบายเชิงแนวคิด สู่บทปฏิบัติการ จริงในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกษตรสู่การพึ่งตนเอง ลดการพึ่งปัจจัยภายนอก และที่สำคัญคือ ต้องร่วมกันสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ที่จะเอื้อต่อการฟื้นฟูวิถีชุมชนเกษตรที่สมดุล ยั่งยืน ในพื้นที่ต้นน้ำมูลตอนบน-ลำพระเพลิง

หัวเรื่อง

สถานที่ท่องเที่ยว

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:เลขที่ 38 หมู่ที่ 15 ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา 30370
โทรศัพท์:08-4355-4720, 08-1725-1179, 08-1955-3018

รายการอ้างอิง

  1. สวนลุงโชค. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2556, จาก http://www.wangnamkeowdd.com/traveldt.php?bdtl_id=100
  2. เที่ยวเชิงเกษตร ที่ "สวนลุงโชค" วังน้ำเขียว. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2556, จาก http://www.khanpak.com/8406-เที่ยวเชิงเกษตร-ที่-สวนลุงโชค-วังน้ำเขียว.html