วัดหน้าพระธาตุ (วัดตะคุ)


รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

      ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2330 สังกัดมหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2515 เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ได้แก่ เจดีย์ อุโบสถ และหอไตรกลางน้ำ ที่ได้รับการอนุรักษ์ มีศิลปะแบบท้องถิ่นปะปนอยู่มาก ด้านหน้าอุโบสถหลังเก่า มีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กลางสระมีหอไตร 1 หลัง ทรงเตี้ยแบบหอไตรพื้นเมืองอีสานซึ่งมีภาพลายรดน้ำที่บานประตูเป็นลวดลาย วิจิตรสวยงามมาก ระหว่างหอไตรและอุโบสถหลังเก่า ยังมีเจดีย์ศิลปะแบบลาวเก่าอีก 1 องค์ สร้างโดยชุมชนที่อพยพมาจากนครเวียงจันทน์ เดิมมีชื่อว่า "วัดตะคุ" ต่อมาคณะสงฆ์ให้ใช้ชื่อว่า "วัดหน้าพระธาตุ"

ลักษณะวัด พัทธสีมา

ประเภทวัด วัดราษฎร์

อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ หอฉัน ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอระฆัง ศาลาบำเพ็ญกุศล และฌาปณสถาน

การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ

1. พระครูอินทรีย์สังวร

2. พระครูธวัชชัยคุณมุณี พ.ศ. 2443-2464

3. พระครูธวัชชียคุณ พ.ศ. 2465

4. พระครูธวัชชัยคุณ พ.ศ. 2485-2486

5. พระสมุห์เพ็ง จนฺโท

6. พระครูใบฏีกาถนอม พ.ศ. 2496-2499

7. พระครูอภิบาลธรรมธาตุ (น้อย โชติเวโท) พ.ศ. 2500- เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสนใจ

      แหล่งท่องเที่ยวเชิงพุทธด้านสถานปัตยกรรมและจิตรกรรมรุ่นเก่า อยู่ในช่วงก่อน พ.ศ. 2440 เช่น

- พระอุโบสถเก่า ตั้งอยู่ข้างอุโบสถหลังใหม่ เป็นหลังดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งสร้างวัด ฐานอุโบสถมีลักษณะแอ่นโค้ง ที่ศัพท์ทางช่างเรียกว่าตกท้องสำเภา หรือ ท้องช้าง หรือ ท้องเชือก ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ช่างนิยมทำกันในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา และต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่น่าสนใจ คือ ส่วนของหลังคา ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เช่นอุโบสถที่พบเห็นทั่วไป ซึ่งคล้าย "ศิลปะพระราชนิยม" ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงสันนิษฐาน ว่าน่าจะเขียนขึ้นประมาณปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้า อยู่หัว รัชกาลที่ 3 ถึงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ภายในอุโบสถมีภาพเขียน สันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มช่างที่ได้อิทธิพลช่างหลวงกรุงเทพฯ คือ ช่างที่เคยไปกรุงเทพฯ อาจเป็นช่างหลวง หรือ ได้รับการฝึกฝนจากช่างหลวง ลักษณะภาพจึงเป็นลักษณะคล้ายกับภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบประเพณีนิยม ผสมผสานกับเนื้อหาสาระและเทคนิควิธีการของพื้นบ้าน ในอดีตมีภาพเขียนด้านนอก แต่ปัจจุบันลบเลือนไปมากแล้ว เหลือเพียงบางส่วนที่เหนือประตูทางเข้าด้านหน้า อยู่เหนือประตูด้านนอก แต่ภาพเขียนในอุโบสถอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เป็นภาพแสดงเรื่องราวต่าง ๆ เช่น ผนังด้านในทั้ง 4 ด้าน มีทั้งภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ภาพพระจุฬามณีบนสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ภาพทศชาติชาดก ภาพการสักการะรอยพระพุทธบาท เป็นต้น ที่สำคัญคือมีการสอดแทรกภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เช่น การทำนา หาปลาค้าขายเล่นว่าวตีไก่และภาพกามวิสัยซึ่งเขียนได้อย่างมี ชีวิตชีวา ได้รับการยกย่องว่าเป็นฮูบแต้มที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของอีสาน 

- อุโบสถ ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 5.40 เมตร ยาว 8.70 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูด้านเดียวทางด้านหน้า ด้านข้างแต่ละด้านมีหน้าต่าง ด้านละ 3 บาน มีบันใดขึ้นลง 3 ทาง อุโบสถมีใบเสมา แต่ไม่มีกำแพงแก้ว ลักษณะสถาปัตยกรรมก่อด้วยอิฐถือปูน เป็นอาคารยกพื้นสูงมีฐานรับน้ำหนักแบบหย่อนท้องช้าง ตามลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนปลาย ลักษณะของอุโบสถมีฐานกว้างและสอบด้านบน ตัวอาคารทึบทั้ง 4 ด้าน เจาะเป็นช่องประตูทางด้านทิศตะวันออกและหน้าต่างทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ หลังคาเหลี่ยมหน้าจั่วเป็นชั้นลด 1 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผาประดับด้วยกระเบื้องเชิงชายลายเทพพนม ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรม โดยรอบทั้ง 4 ด้าน พระประธานเป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ ฝ้าเพดานลงรักแดงซึ่งเดิมเป็นฝ้าเพดานลงรักแดงปิดทองรูปดอกไม้ หน้าบัน ด้านหน้าเป็นรูปดอกพุดตาน พื้นหลังประดับกระจกสีเขียวเข้ม ใต้หน้าบันเป็นแผ่นทับหลังซึ่งหลุดร่วงเห็นเป็นช่องว่าง ใต้ทับหลังเป็นกระจังสาหร่ายรวงผึ้ง หน้าบันด้านหลังจำหลักไม้ เป็นรูปพรรณพฤกษา พื้นหลังประดับกระจกสีเขียวเข้ม มีรูปช้างเอราวัณตรงกลาง

- หอไตรกลางน้ำ ตั้งอยู่หน้าอุโบสถหลังเก่า หอไตรหลังนี้ยกพื้นสูงชั้นเดียวตั้งอยู่ในสระน้ำ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเรือนไทยหลังคาจั่วภาคกลาง ผนังอาคารเป็นแบบฝาปะกน เหตุที่ต้องสร้างอยู่ในน้ำเพราะหอไตรเป็นที่เก็บพระไตรปิฎก ตำราคัมภีร์โบราณซึ่งทำจากใบลานเป็นส่วนใหญ่ มอดมดปลวกจึงมักมาแทะกัดกินทำให้เกิดความเสียหาย คนโบราณจึงได้สร้างสระน้ำ ป้องกันไม่ให้สัตว์ต่าง ๆ ขึ้นไปทำลายพระธรรมคัมภีร์เหล่านั้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องไปหยิบไปใช้ก็จะมีสะพานพาดไปที่บันไดทางขึ้นหอไตรเสร็จแล้วก็ยกออก ปัจจุบันหอไตรนี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามหน้าที่เดิมแล้ว หอไตรหลังนี้มีภาพเขียนให้ชม ด้านนอกตั้งแต่ประตูทางเข้าเป็นลายรดน้ำปิดทอง ส่วนตามผนังเป็นภาพพุทธประวัติ เทพชุมนุมลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง แม่พระธรณีซึ่งอยู่ในสภาพลบเลือนไปมาก ส่วนด้านในหอไตรเป็นเทพชุมนุม ดอกไม้ร่วง เป็นต้น

- พระธาตุ ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถเก่า เป็นปูชนียสถานที่ชาวปักธงชัยให้ความเคารพศรัทธา ตามประวัติของวัดกล่าวว่า ชาวบ้านซึ่งเป็นคนลาวที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ได้ร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน องค์พระธาตุมีรูปทรงบัวเหลี่ยม เป็นศิลปะลักษณะเฉพาะของพระธาตุพื้นบ้านดั่งเดิมของลาว คล้ายเจดีย์ซึ่งพบเห็นทั่วไปในภาคอีสาน คือ ฐานธาตุเป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส 

- หอแจกเก่า ปัจจุบันได้รื้อออกแล้ว มีโครงสร้างไม้พื้นติดดิน สำหรับฝ้าเพดาน และคอสองจะมีฮูปแต้มประดับ

การเดินทาง รถยนต์

     เริ่มต้นจากลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ถนนสาย 304 สายนครราชสีมา-กบินทร์บุรี-ฉะเชิงเทรา ตรงไปถึงสามแยกบ้านหัน เลี้ยวซ้ายเข้าไป 3 กม. จะถึงวัดทางซ้ายมือ

 

หัวเรื่อง

วัดในจังหวัดนครราชสีมา

หมวดหมู่

ศาสนสถาน

คำสำคัญ

วัด

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:บ้านตะคุ หมู่ที่ 1 ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา 30150
โทรศัพท์:0 4444 1814

รายการอ้างอิง

  1. กระทรวงศึกษาธิการ. กรมการศาสนา. (2542). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 17. กรุงเทพฯ: กระทรวง.
  2. จิตติมา ผลเสวก. (2545). นครราชสีมา. กรุงเทพฯ: สารคดี.
  3. เทิดชาย บำรุง. (2553). พลวัตการท่องเที่ยวอีสานใต้ : ค้นหารอยยิ้มร่วมสมัยแห่งกาลเวลาผ่านงานวิจัย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
  4. วิโรฒ ศรีสุโร. (2536). สิมอีสาน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้า.
  5. สถาบันราชภัฏนครราชสีมา. ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม. ของดีโคราช เล่มที่ 2 สาขาศิลปะและภาษา. นครราชสีมา: สถาบัน.