พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


รายละเอียด

ประวัติ

ปีที่ก่อตั้ง: 2537

เนื้อหา: ธรรมชาติวิทยา และโบราณคดี

จุดเด่น:

     สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กำเนิดจากการประชุมสัมมนาระดับจังหวัดในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโคราชในทศวรรษหน้า ที่โรงแรมสีมาธานี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537

     โดย ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล หัวหน้าภาควิชาภูมิศาสตร์ สถาบันราชภัฏนครราชสีมาขณะนั้น เป็นผู้อภิปรายถึงสถานการณ์วิกฤติของไม้กลายเป็นหิน พร้อมทั้งเสนอโครงการอนุรักษ์ในรูปของอุทยานและพิพิธภัณฑ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายสุพร สุภสร ซึ่งร่วมประชุมอยู่ด้วย ได้ประกาศสนับสนุนการอนุรักษ์ตามโครงการดังกล่าว และได้อนุมัติงบประมาณ 1 ล้านบาท ให้กับสถาบันราชภัฏนครราชสีมา ในการจัดทำแผนแม่บทอนุรักษ์และออกแบบพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินขึ้น

     พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ได้ก่อเกิดบนที่ดิน จำนวน 80.5 ไร่ ตามความเห็นชอบให้ใช้ประโยชน์จาก องค์การบริหารส่วนตำบลสุรนารี ทำให้มีการลงทุนโครงการในช่วงที่ผ่านมารวมกว่า 180 ล้านบาท ส่วนสำคัญเกิดจากความสนพระทัยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การสนับสนุนจากนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และจากการประสานงานของนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รวมทั้งการสนับสนุนจากจังหวัดนครราชสีมา เพื่อดำเนินการจัดนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งถนนและงานภูมิทัศน์ และจากหน่วยงานอื่นที่สนับสนุน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานโยธาธิการจังหวัด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนตำบลสุรนารี เป็นต้น

     ทั่งนี้พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีฯ จัดเป็น 1 ใน 8 พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินของโลก ภายในบริเวณประกอบด้วยจุดเยี่ยมชมนิทรรศการ 3 อาคารหลัก 

อาคาร 1 พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน

-​ จัดแสดงซากดึกดำบรรพ์ไม้กลายเป็นหินอายุกว่า 800,000 ปี และตื่นตากับ "ไม้กลายเป็นหินเนื้ออัญมณี" ความงามจากความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่สั่งสมผ่านกาลเวลา ที่ค้นพบในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา/ภาคอีสาน และบางส่วนได้รับมอบจากมิตรประเทศ พร้อมข้อมูลทางวิชาการทั้งในรูปแบบ วีดีโอ 4 มิติ และนิทรรศการให้ศึกษาเรียนรู้

อาคาร 2 พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์

-​ โซนแห่งความรู้ของทุกเพศทุกวัย ชมวิวัฒนาการของช้างดึกดำบรรพ์ผ่านสื่อหลากหลายรู้แบบ อาทิ วีดีโอ แอนนิเมชั่น, หุ่นจำลองซากดึกดำบรรพ์/ฟอสซิล

อาคาร 3 พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์

-​ โซนหุ่นจำลองเจ้ายักษ์ดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ทั้งกินเนื้อและกินพืช ที่อยู่รอบบริเวณทั้งภายนอกอาคาร และโซนจัดแสดง เพลิดเพลินกับโซนความรู้ทั้งห้องฉายวีดีโอ ในบรรยากาศตื่นตา และฟอสซิล มากมายให้เยี่ยมชม

การเข้าชมทั้ง 3 อาคาร ใช้เวลา 1 ชั่วโมงโดยประมาณ เส้นทางเยี่ยมชมทั้ง 3 อาคาร เชื่อมต่อกัน

จัดการโดย: หน่วยงานราชการ

สถานะ: เปิดดำเนินการ

วันและเวลาทำการ: เปิดให้บริการ วันอังคาร-วันอาทิตย์ ทุกวัน 09.00-15.30 น. (ปิดให้บริการวันอาทิตย์) การเข้าชมเป็นหมู่คณะกรุณาติดต่อจองรอบล่วงหน้า

ค่าเข้าชม:

- นักเรียนอนุบาล-ปวช.              20  บาท

- นักศึกษา ปวส.-ปริญญาตรี        30  บาท

- ผู้ใหญ่                                 50  บาท     

- เด็กต่างชาติ (Youth)              50  บาท

- ชาวต่างชาติ (Foreigner)       120  บาท

- พระภิกษุ สามเณร ผู้ทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ (60 ปี ขึ้นไป) ฟรี

       

หัวเรื่อง

พิพิธภัณฑ์

หมวดหมู่

พิพิธภัณฑ์ในจังหวัดนครราชสีมา

คำสำคัญ

พิพิธภัณฑ์, พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์, ซากดึกดำบรรพ์, ไดโนเสาร์, ฟอสซิล, ไม้กลายเป็นหิน, ธรรมชาติวิทยา

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:184 สถานีวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ บ้านโกรกเดือนห้า หมู่ที่ 7 ถนนมิตรภาพ-หนองปลิง ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000
โทรศัพท์:0 4437 0739 หรือ 08 0165 1070
เว็บไซต์:http://www.khoratfossil.org/khoratfossil/index.php/th/

รายการอ้างอิง

  1. เรียบเรียงเนื้อหา ประเทือง จินตสกุล ... [และคนอื่น ๆ]. (2551). หนังสือที่ระลึกเนื่องในโอกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารสิรินธร ณ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา. นครราชสีมา: สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.
  2. สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2556, จาก http://www.khoratfossil.org/museum
  3. พิพิธภัณฑ์เสมือน สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2556, จาก http://www.khoratfossil.org/academy
  4. พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2556, จาก http://pr.prd.go.th/nakhonratchasima/ewt_news.php?nid=243&filename=index