ทองกวาว หรือ จาน


รายละเอียด

ชื่อวิทยาศาสตร์Butea monosperma (Lam.) Taub.
ชื่อวงศ์LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE
ชื่ออื่นกวาว ก๋าว (ภาคเหนือ) จอมทอง (ภาคใต้) จ้า (เขมร-สุรินทร์) จาน (อุบลราชธานี) ทองกวาว ทองธรรมชาติ ทองพรมชาติ (ภาคกลาง) ทองต้น (ราชบุรี)
ลักษณะวิสัย:ไม้ขนาดกลาง สูง 8-15 ม.
ต้นต้นส่วนมากจะคดงอ และแตกกิ่งต่ำ เปลือกสีเทาคล้ำ แตกระแหงเป็นร่องตื้น ๆ
ใบใบประกอบที่ออกจากจุดปลายก้านเดียวกัน 3 ใบ ติดเรียงเวียนสลับ แน่นบริเวณปลายกิ่ง ใบย่อยรูปป้อม โคนเบี้ยว ปลายมน ลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ใบกลางจะมีก้านใบยาวและใหญ่ที่สุด
ดอกออกเป็นช่อ ตามกิ่งเหนือรอยแผลใบและตามปลายกิ่ง ส่วนฐานรองดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ดอกสีแสดที่เป็นสีเหลืองหายาก ลักษณะเป็นดอกถั่วขนาดใหญ่มี 5 กลีบ เกสรผู้มี 10 อัน แยกเป็นอิสระ 1 อัน อีก 9 อัน โคนก้านเชื่อม ติดกันเป็นหลอด
ผลฝักแบน กว้างประมาณ 3.5 ซม. ยาวถึง 14 ซม. มีขนปกคลุมหนาแน่น ภายในมีเมล็ดแบน ๆ 1 เมล็ด
การขยายพันธุ์ขยายพันธ์ุได้ 2 วิธี คือ การเพาะเมล็ด และเหง้า แต่ที่นิยม และได้ผลที่สุดคือ การเพาะเมล็ด
การใช้ประโยชน์:
ด้านสมุนไพรดอก ใช้ขับปัสสาวะ บำรุงร่างกาย บำรุงเลือด เป็นยาอายุวัฒนะ ยาบำรุงกำลังใช้พอกฝี และสิว รักษาโรคท้องขึ้น ใช้บำบัดพยาธิ พยาธิ ริดสีดวง น้ำเลี้ยงหรือยาง แก้ท้องร่วง
ด้านการแปรรูปเนื้อไม้เมื่อแห้งมีน้ำหนักเบาและหดตัวมาก ใช้ทำกระดาษกรุบ่อน้ำ ทำเรือขุด ใยจากเปลือกใช้ทำเชือก ดอกสีแดง ใช้ย้อมผ้า และสามารถนำมาแปรรูปเป็นชาชง ดื่มบำรุงร่างกาย บำรุงเลือด เป็นยาอายุวัฒนะ

หัวเรื่อง

พฤกษาพรรณบรรณสาร : ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

หมวดหมู่

เกษตรกรรม

รายการอ้างอิง

  1. กรมป่าไม้. [(2555)]. พรรณไม้ป่าพื้นบ้านอาหารชุมชน : เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 สิงหาคม 2555. กรุงเทพฯ: กรม.
  2. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช. (2565). ป่าปุ่งป่าทาม ภาคอีสาน. กรุงเทพฯ: กรม.
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2565, จาก http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/search.asp?txtsearch
  4. เอื้อมพร วีสมหมาย และทยา เจนจิตติกุล. (2544). พฤกษาพัน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ เอช.เอน กรุ๊ป.