ปรางค์พุดซา (ปรางค์ทอง)


รายละเอียด

ก่อด้วยอิฐ เหลืออยู่เพียงองค์เดียว กรมศิลปากรเข้ามาทำการขุดแต่งเมื่อง พ.ศ. 2521 พบว่ามีรากฐานของซึ่งทำด้วยหินทรายอีก 2 องค์ รวมเป็น 3 องค์ เรียงจากทิศเหนือ-ใต้ องค์ที่เห็นอยู่คือ องค์ทางทิศใต้ องค์ปรางค์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนบนเหนือเรือนธาตุเหลือชั้นหลังคาของเดิม 1 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นส่วนยอดทำใหม่โดยทำเป็นรูปกรวยสี่เหลี่ยมแบบเจดีย์ลาว ด้านข้างมีประตูด้านเดียวหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ยังคงมีทับหลังหินทรายสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ มีสถาพสมบูรณ์ ศิลปะเขมรแบบบันทายศรี มีอายุราวต้น พุทธศตวรรษที่ 16

1.กลุ่มของศาสนสถานแบบขอม ซึ่งประกอบด้วย ปรางค์ก่อด้วยอิฐ มีทับหลังทำด้วยหินทรายสลักลายเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ อยู่ที่ซุ้มประตูทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นด้านหน้า นักวิชาการวิเคราะห์ว่าทับหลังชิ้นนี้เป็นทับหลังศิลปะขอบแบบบันทายศรี ซึ่งพบน้อยมากในประเทศไทย องค์ปรางค์มีประตูหลอกอีก 3 ด้าน กรอบประตูทำด้วยหินทราย ส่วนบนเหนือเรือนฐานเหลือชั้นหลังคาของเดิม 1 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นส่วนที่ทำยอดใหม่โดยทำเป็นรูปกรวยสี่เหลี่ยมแบบเจดีย์ของลาวล้านช้างสมัยภายหลัง ภายในเรือนธาตุเจาะเป็นคูหาหรือห้องสี่เหลี่ยม บนผนังภายใน 3 ด้าน ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นสมัยหลังซึ่งเลือนรางมาก ทางด้านทิศตะวันออกของปรางค์มีเนินดิน ซึ่งควรจะเป็นซากอาคารโบราณสถาน จากตำแหน่งของเนินดินทำให้ทราบว่า โบราณสถานแห่งนี้ไม่ใช่ปรางค์องค์เดี่ยวโดดๆน่าจะเป็นปรางค์ 3 หรือ 5 องค์มีแนวแกนตะวันออก-ตะวันตก ตรงกับซากมูลดินของซากอาคารด้านหน้า ปรางค์ที่ปรากฏน่าจะเป็นปรางค์ที่อยู่ด้านข้างขององค์ประธาน เมื่อกรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งดูรากฐาน จึงพบว่ามีรากฐานของปรางค์ซึ่งทำด้วนหินทรายอีก 2 องค์ รวมเป็นกลุ่มปรางค์ 3 องค์ รวมเป็นกลุ่มปรางค์ 3 องค์เรียงจากทิศเหนือใต้ องค์ที่ยังเหลือให้เห็นอยู่นี้ คือองค์ด้านทิศใต้

2.พระอุโบสถของวัดที่สร้างขึ้นใหม่ แต่ได้รวบร่วมเอาทับหลัง ศิลาฤกษ์ฯลฯ ศิลามีลายจำหลัก ซึ่งเป็นส่วนประกอบต่างๆของศาสนสถานขอมที่พบในเขตโบราณสถานบริเวณปรางค์ทองและปราสาทวัดบนซึ่งอยู่ไปทางทิศตะวันตกของวัด

โบราณสถานแห่งนี้สามารถกำหนดอายุได้ค่อนข้างชัดเจน เนื่องจากทับลายบนทับหลัง รูปประติมากรรมหลายชิ้น และการเข้ากรอบประตูหิน ซึ่งคงจะสร้างขึ้นเมื่อต้นราวพุทธศตวรรษที่ 16

บ้านพุดซาบริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งวัดปรางค์ทองปัจจุบันสันนิษฐานว่าอดีตเคยเป็นปราสาทของพระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้ายโสวรมัน แห่งอาณาจักรขอม เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 15 ตัวปราสาทเป็นศิลปะขอม ก่อสร้างด้วยอิฐ มีการบันทึกไว้ว่าสภาพปราสาทเมื่อปี พ.ศ. 2521 ยังคงเห็นส่วนฐานปราสาทที่ก่อสร้างด้วยหินทรายแดงสลักเป็นฐานบัวรองรับปราสาทหลังทิศใต้ เดิมกรมศิลปากรขุดแต่งพบฐานบัวรองรับปราสาทอิฐ 3 หลัง เรียงกันในแกนทิศเหนือ-ใต้ สำหรับปราสาทประธาน หลังกลางและหลังทางด้านทิศเหนือพังหมดแล้ว ปัจจุบันได้ถมดินรอบปราสาทเหนือระดับฐานบัว อย่างไรก็ตาม ปราสาทดังกล่าวได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนฐาน ส่วนเรือนธาตุ และส่วนยอด

ส่วนฐานสันนิษฐานว่า คงเป็นฐานบัวก่อสร้างด้วยศิลาแลงสูงประมาณเมตรเศษรองรับส่วนฐานบัวของปราสาท 3 หลัง ที่สูงประมาณ 50 ซ.ม. อีกชั้นหนึ่งและมีบันไดทางขึ้นด้านหน้า ทางทิศตะวันออกตรงกับปราสาทประธาน

ส่วนเรือนธาตุเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม ขนาด 4x4 เมตร มีประตูทางเข้าด้านเดียวคือทางด้านทิศตะวันออก อีกสามด้านเป็นประตูหลอก เหนือประตุทางเข้ามีทับหลัง สลักลายพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณที่เสี้ยวของทับหลังมีสิงหมุขคาบท่อนพวงมาลัยปลายท่อนพวงมาลัยด้านหนึ่งม้วนลงมาจบใต้ช้างเอราวัณ อีกด้านหนึ่งม้วนลงที่ปลายทับหลังและมีสิงห์เต็มตัวคาบก้านดอกบัวใต้สิงหมุข มีลายใบไม้ม้วน2ช่อมาบรรจบกัน จุดบรรจบกันมีเนื้อที่ทั้งหมด 3 ตำแหน่งคือ ใต้ช้างเอราวัณ 1 จุด ใต้สิงหมุข 2 จุด แต่ละจุดบรรจบกันนี้มีงแหวนรัดซึ่งเป็นลักษณะเฉพราะศิลปขอมสมัยบาแค็งถึงบันทายศรี(ราวพุทธศตวรรษที่ 16)

ภายในเรือนธาตุคือห้องสี่เหลี่ยมโดยทั่วไปมักประดิษฐานประติมากรรมรูปเคารพ หากนับถือพระศิวะมักจะประดิษฐานศิวลึงค์ อันเป็นเทพสูงสุดในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ไว้ในปรางค์ประธาน กรณีปราสาทบริวารที่คงเหลืออยู่นี้คงประดิษฐานเทพชั้นรองลงมาจากพระศิวะ คือพระนารายณ์และพระพรหม ซึ่งอาจจะเป็นเทพองค์ใดองค์หนึ่ง ปัจจุบันห้องภายในเรือนธาตุนี้ไม่พบฐานการบูชาเทพองค์ใด เนื่องจากถูกเปลี่ยนสภาพจนหมด มีการเขียนจิตรกรรมฝาผนังใหม่แล้วด้วย ส่วนยอดเป็นชั้นย่อส่วนเรือนธาตุขึ้นเป็นชั้นๆ ยังคงเหลือชั้นวิมาน หรือชั้นเรือนยอดอยู่เพียงชั้นเดียวที่เหลือถุกดัดแปลงเป็นยอดเจดีย์ตามแบบศิลปะลาวหมดแล้ว

หัวเรื่อง

สถานที่ท่องเที่ยว

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:บ้านพุดซา ตำบลพุดซา อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000