ลิเกคณะแสงเพชร เทพประทาน


รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา เดิมทีที่พ่อแม่ของเจ้าของคณะเป็นลิเกมาก่อน เริ่มมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า สืบทอดต่อกันมาจากปู่มาสู่พ่อจากพ่อก็มาสู่ลูกเป็นรุ่นๆไป ซึ่งสมัยก่อนเรียนไม่ค่อยสูง พ่อแม่จะไม่ค่อยมีเงินส่งให้เรียนสูงๆจึงจบแค่ประถมศึกษาปีที่ 6 พออายุประมาณ 14 ปีก็เริ่มหัดลิเก เล่นอยู่กับคณะของน้าพงศ์เพชร ซึ่งเป็นนายกสมาคมลิเกและเป็นน้าชายแท้ๆ เริ่มแรกก็ออกไปให้ชินกับหน้าเวทีก่อน เดินตามเขาไปเรื่อยๆ เล่นเป็นตัวประกอบบ้าง เป็นทหารบ้าง แรกๆก็อายเวลาออกไปหน้าเวทีที่มีคนดูเยอะๆ พอผ่านไปซักระยะก็เริ่มรู้สึกว่าชินกับหน้าเวทีเริ่มไม่อายคนไม่กลัวคนดู เลยหันมาเริ่มร้องกลอนโดยผู้ใหญ่จะเป็นคนจดกลอนให้มาท่องจำ พอท่องจำได้ก็มาดัดเป็นการร้องทำนองของลิเก ก็เล่นลิเกมาเรื่อยๆ จึงขอแยกตัวออกมาเพราะรู้สึกว่าเด็กเข้ามาใหม่ในคณะเริ่มเยอะคนเริ่มเยอะ จึงได้ออกมาตั้งคณะเป็นของตัวเองเป็นหัวหน้าคณะเองตอนอายุ 27 โดยการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากที่เคยเล่นมาทั้งหมด และตั้งชื่อคณะว่า แสงเพชรเทพประทาน

ชื่อโต้โผหรือเจ้าของคณะ คุณสัมพันธ์ ยานเจริญ

ชื่อพระเอก พระเอกจะมีพระเอกหลัก พระเอกรอง พระเอกเจ้าและพระเอกพ่อ พระเอกจะต้องมี 3 ตัวเป็นหลักต่อหนึ่งเรื่อง

             พระเอกหลัก แสดงโดย คุณแสงเพชร เทพประทาน (นายสัมพันธ์ ยานเจริญหรือเจ้าของคณะ)

             พระเอกรอง แสดงโดย คุณพรพรหม ชมไพร

             พระเอกเจ้าและพระเอกพ่อ แสดงโดย คุณสุริยา ยอดรัก

ชื่อนางเอก จะมีนางเอกหลักและนางเอกรอง ตามความเหมาะสมของเรื่อง

             นางเอกหลัก แสดงโดย คุณบุหงา สายใจ

             นางเอกแสดงโดย คุณออย ศิริลักษณ์

ชื่อตัวโกง คุณไอยเรศ คุณภูผา

ชื่อตัวตลก คุณลูกอ๊อด โชวค์หู วรทั่ง

ดาวร้าย

โอกาสในการแสดง

             แสดงทุกงาน เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานร้อยวัน งานกฐิน งานทอดผ้าป่า งานฉลอง งานรื่นเริง งานประจำปี งานวันพ่อ งานวันแม่ ฯลฯ

ยกเว้น งานแต่งงาน

เนื้อเรื่องที่แสดง ส่วนมากจะเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์และเรื่องที่แต่งขึ้นเอง เช่น

             ขโมยที่รัก (แต่งขึ้นเอง)

             คมมีดคมขวาน

ลิเกในปัจจุบัน

             การจ้างเล่นลิเกน้อยลงมากจากเมื่อก่อน ตอนนี้ส่วนมากจะเป็นงานเครื่องเสียง เช่นอย่างคณะลิเกมาจากที่อื่นก็จะมาจ้างเครื่องเสียงของคณะ

การเตรียมการก่อนการแสดง

             ก่อนจะมีการแสดงทุกครั้งโต้โผจะวางแผนว่าจะเล่นเรื่องอะไร และจะเปิดดูไดอารี่จดงานประจำปีว่าปีนี้ ตำบลนี้ ที่จะไปทำการแสดงเคยแสดงเรื่องอะไรไปแล้วบ้างจะได้เตรียมแสดงเรื่องใหม่ เตรียมการใหม่ว่าจะใช้ตัวละครกี่ตัว ซึ่งลิเกจะมีการดึงตัวกันได้ คือหากคณะที่จะทำการแสดงขาดตัวละครตัวใดตัวละครตัวนึง เช่น ขาดนางเอก ก็จะสามารถดึงตัวนักแสดงนางเอกของอีกคณะนึงที่ไม่มีการแสดงมาแสดงแทนได้ นักแสดงที่มาแสดงแต่ละเรื่องจะมีทั้งนักแสดงที่มีประจำในคณะกับนักแสดงที่มาจากที่อื่นมารวมกัน และถ้าเป็นนักแสดงประจำจะรู้อยู่แล้วว่าต้องทำยังไงเล่นยังไงรู้บทที่จะเล่นจึงไม่ต้องอธิบายอะไรเยอะ แต่ถ้าเป็นนักแสดงที่มาสมทบจะต้องคุยงานใหม่ทั้งหมดว่าจะเล่นอะไร เจอฉากอะไร ต้องร้องอะไรแสดงยังไง และพอถึงเวลาที่จะแสดงจริงๆทั้งหมดคือการแสดงสด เห็นอะไรก็จะสามารถร้องออกมาเป็นกลอนได้เป็นการคิดสดหรือการด้นกลอน

อาชีพหลักของนักแสดง

อาชีพหลักของนักแสดงทุกคนจะเป็นลิเก แต่บางคนก็จะมีอาชีพสำรองเหมือนหรือแตกต่างกันออกไป เช่น ทำธุรกิจขายส่งธุรกิจขายตรง เป็นต้น

ฉากลิเก

             ฉากลิเกในอดีตจะมีลักษณะเป็นฉากๆไปแล้วฉากจะมีความเกี่ยวของและบ่งบอกความเป็นตอนและเนื้อเรื่องได้แต่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนไปนั่นคือ มีการเปลี่ยนไปใช้ป้ายอินเจ็ท ซึ่ง การติดตั้งฉากก็จะพิจารณาจากขนาดพื้นที่ที่จะทำการแสดง โดยภาพบน ฉากจะมีขนาด 8*3.5 เมตรโดยประมาน ซึ่งเป็นเวทีใหญ่ ส่วนภาพด้านล่างจะมีขนาด 6*3.5 เมตร โดยประมาน

ความเห็นของโต้โผ

ปัญหาในการประกอบอาชีพลิเก

             ปัญหาเรื่องกระแสไฟ อย่างถ้ากระแสไฟไม่พอก็จะทำให้เสียงาน

             ปัญหาเรื่องวัยรุ่นตีกัน ซึ่งคนดูก็กลัวเวลามีเหตุตีกัน คนดูก็กลับกันทำให้ลิเกกร่อย

             ปัญหาเวลาช่วงหน้าฝน เพราะพอฝนตกคนก็ไม่ค่อยออกมาดูกัน

อนาคตของลิเกโคราช

             หากกล่าวถึงคณะแสงเพชร เทพประทาน อนาคตยังเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนว่าจะขยายหรือจะพัฒนาอย่างไรกับคณะต่อไป เนื่องจากปัจจุบันผู้คนให้ความสนใจในลิเกน้อยลงทำให้งานลิเกน้อยลงกว่าปีก่อนๆ ผู้คนหันไปจ้างพวกวงดนตรีแทนที่จะจ้างลิเก และเด็กรุ่นใหม่บางคนแทบไม่รู้จักลิเกเลยด้วยซ้ำเพราะการเสพสื่อติดเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้ความสนใจของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไป

รางวัลเกียรติยศ

             3 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟู เผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมและพัฒนาศิลปะพื้นบ้าน งานมหกรรมลิเก

“มรดกภูมิปัญญาการแสดงพื้นบ้าน ลูกหลานย่าโม” หน่วยงานที่มอบ กระทรวงวัฒนธรรม

             18 กันยายน พ.ศ. 2554 ร่วมสนับสนุนงานการกุศล “มหกรรมลิเกเฉลิมพระเกียรติ เพื่อผู้ป่วยที่ยากไร้” ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในมงคลวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 หน่วยงานที่มอบ มูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

             13 สิงหาคม พ.ศ. 2553 วิทยากรเสวนาทางวิชาการ เรื่องลิเกโคราช ในโครงการจัดการแสดงศิลปวัฒนธรรม ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง หน่วยงานที่มอบ วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม

หัวเรื่อง

ลิเกโคราช

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:199 ถนนมุขมนตรี ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000
โทรศัพท์:08-7249-3753
เว็บไซต์:http://www.saengpetch-thepprathan.myreadyweb.com

รายการอ้างอิง

  1. ธารารัตน์ หาญสูงเนิน. สุพัชรา ผาดจันทร์. กรณ์ปารณีย์ สกุลท้าวหงษ์. (2559). ลิเกคณะแสงเพชร เทพประทาน. นครราชสีมา: สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.
  2. สัมพันธ์ ย่านเจริญ. (สัมภาษณ์). 26 มกราคม 2559.