บ้านมะเกลือเก่า


รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

     ตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2330 โดยหลวงศรีฯ (ไม่ทราบสกุล) ผู้นำชาวบ้านอพยพมาตั้งหมู่บ้าน เดิมมีภูมิลำเนาอยู่เมืองภูเขียว (อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ) เมืองหลวงการปกครองขึ้นอยู่กับเมืองหนองบัวลำภู เป็นไทยสายล้านช้าง ในรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวบ้านกลุ่มแรกที่เริ่มก่อตั้งหมู่บ้าน คือ ชาวนครเวียงจันทร์ คุ้มบึงอินทร์ผยอง พวกหนึ่งได้พากันอพยพข้ามแม่น้ำโขง มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ฝั่งขวาเพื่อประกอบอาชีพ ระยะที่กล่าวนี้เป็นรัชกาลของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ผู้ครองนครเวียงจันทร์ประมานราว พ.ศ. 2110 หรือ ราวรัชกาลแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อได้ทำเลไม่เป็นที่พอใจ ก็อพยพเลื่อนลงมาเรื่อย ๆ เป็นระยะ จนถึงที่ราบลุ่มลำน้ำลำตะคอง อันเป็นส่วนหนึ่งของดงพญาเย็นได้แยกกันตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มที่สำคัญคือ กลุ่มที่มาตั้งเป็นบ้านท่าสีดา และบ้านนาสะแก กลุ่มบ้านท่าสีดาตั้งอยู่ลำตะคองคุ้ง ไปทางตะวันออก บ้านท่าสีดาตรงที่เรียกว่า ท่างอยคุ้งจอมขวัญ จนถึงปัจจุบัน

     ต่อมาบ้านท่าสีดาได้ย้ายบ้านไปตั้งอยู่ที่ โคกโนนหินดาด ซึ่งเป็นสถานที่เหมาะแก่การประกอบอาชีพ คือ ด้านทิศใต้เป็นโคกป่า ด้านทิศเหนือเป็นที่ราบลุ่ม เพราะว่าส่วนที่เป็นโคกป่าเหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์ ที่ราบเหมาะแก่การทำนา ซึ่งห่างจากบ้านท่าสีดาเดิมไปทางทิศใต้ ประมาณ 2 กม. ส่วนบ้านนาสะแกได้ย้ายไปตั้งบ้านใหม่ทางทิศตะวันออกประมาณ 2 กม. อันเป็นที่เนินสูงชื่อว่า "บ้านสูงเนิน" เพราะว่าเป็นที่สูงและเป็นที่เนินราบลงสู่ลุ่มลำตะคอง บ้านใหม่ของชาวท่าสีดา เป็นพื้นที่มีหินดาดปูไปตามพื้นดินเป็นแห่ง ๆ จึงชื่อว่า "บ้านนาหินดาด" ตามลักษณะของพื้นที่ ซึ่งบ้านนาหินดาดเป็นบ้านที่อยู่เส้นทางคมนาคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือผ่านไปเมืองสระบุรี ปรากฎว่ามีพ่อค้าและคนสัญจรไปมาอยู่เสมอ บางครั้งได้พักผ่อนนอนอยู่เป็นเวลาหลายวัน ครั้งหนึ่งพวกพ่อค้าเดินทางมาจากภาคกลางได้นำเอาเชื้อโรคอหิวาตกโรคมาด้วย จึงมีการแพร่ระบาดของโรคนี้ชาวบ้านได้พากันแตกตื่นอพยพมาอยู่โคกดอนมะเกลือ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกบ้านเดิมประมาณ 1 กม. และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านมะเกลือ"

ที่มาของชื่อหมู่บ้าน

     บ้านมะเกลือเก่าเดิมชื่อ "บ้านมะเกลือ" หรือ "หมากเกลือ" ซึ่งเป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งมีกิ่งก้านสาขากว้างใหญ่ งดงาม มีแก่นสีดำ ผลโตประมาณเท่าหัวแม่มือ เป็นประเภทต้นไม้ยืนต้น ซึ่งมีจำนวนมาก ต้นขนาดใหญ่ที่สุดมีขนาดโตประมาณ 3 คนโอบ ผลใช้ย้อมผ้าให้เป็นสีดำสนิท หรือ ใช้เป็นยาระบายได้ จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านมะเกลือ จนถึงปัจจุบัน ส่วนคำว่า "เก่า" เป็นคำเพิ่มขึ้นภายหลังเมื่อมีบ้านมะเกลือใหม่แล้ว

หัวเรื่อง

ชื่อบ้านนามเมือง นครราชสีมา

หมวดหมู่

ศาสนสถาน

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:หมู่ที่ 2 ตำบลมะเกลือเก่า อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา 30170

รายการอ้างอิง

  1. สิรินทร เยาว์สูงเนิน. (2544). การประเมินโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง : กรณีศึกษากองทุนหมู่บ้านมะเกลือเก่า หมู่ที่ 2 ตำบลมะเกลือเก่า อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา. นครราชสีมา: สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.