บ้านน้ำพุ


รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

       โดยก่อตั้งหมู่บ้านใน พ.ศ. 2500 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ราษฎรอพยพมาจากหลายพื้นที่เพราะต้องการที่ดินในการประกอบอาชีพ สภาพภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านน้ำพุ ก่อนที่จะตั้งหมู่บ้านเป็นส่วนหนึ่งของป่าดงดิบ "ดงพญาเย็น" ซึ่งมีสภาพป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งปัจจัย 4 ช่วยเอื้ออำนวยต่อความอยู่รอดของราษฎร ต่อมาป่าไม้ได้ถูกตัดเป็นจำนวนมาก เนื่องจากราษฎรต้องการพื้นที่ในการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้น คนกลุ่มแรกที่เริ่มก่อตั้งหมู่บ้าน คือ กลุ่มที่อพยพมาจาก อ.แก่งคอย จ.สระบุรี หลังจากนั้นเริ่มมีคนจากหลายพื้นที่ จากภาคกลาง อีสาน เช่น กลุ่มคนจาก จ.อยุธยา กลุ่มคนจากอำเภออื่น ๆ ได้เข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินในพื้นที่ดังกล่าว เหตุที่แต่ละกลุ่มอพยพมาจากบ้านเดิมเพราะความต้องการที่ดินในการประกอบอาชีพ เนื่องจากบ้านน้ำพุ มีสภาพทางภูมิศาสตร์ ที่เหมาะสมและอุดมสมบูรณ์เป็นป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญ มีแหล่งน้ำธรรมชาติ คือ ลำคลองมวกเหล็ก มีต้นกำเนิดจากบริเวณเทือกเขาใหญ่ ไหลผ่าน อ.ปากช่อง ทางด้านทิศใต้ไปทางทิศตะวันตก โดยไหลผ่าน ต.พญาเย็น สู่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี แล้วไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก การตั้งบ้านเรือนใหม่ ๆ นั้นตั้งเป็นกลุ่มกระจุกตัวกัน ใกล้กับลำคลองมวกเหล็ก ซึ่งไหลผ่านเลาะทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านนับว่าเป็นลำคลองที่แบ่งเขต จ.นครราชสีมากับจังหวัดสระุรี ต่อมาเมื่อจำนวนราษฎรเพิ่มขึ้น ได้มีการขยายหมู่บ้านออก ส่วนหนึ่งได้ย้ายไปตั้งหมู่บ้านใหม่ (ซึ่ง คือ บ้านหัวโกรกและเป็นที่ตั้งของ อบต.พญาเย็นในปัจจุบัน)

ที่มาของชื่อหมู่บ้าน

       ตั้งชื่อตามลักษณะทางกายภาพเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ บริเวณแห่งนี้แต่เดิมหน้าดิน มีน้ำใต้ดินผุดขึ้นมาอยู่เหนือดินในปริมาณมากลักษณะคล้ายน้ำพุ สามารถนำไปใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ดี จึงตั้งชื่อเพื่อให้เป็นจุดเด่นแก่หมู่บ้านว่า "บ้านน้ำพุ"

หัวเรื่อง

ชื่อบ้านนามเมือง นครราชสีมา

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:หมู่ที่ 1 ตำบลพญาเย็น อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 30320

รายการอ้างอิง

  1. สิริรัตน์ เขียนโพธิ์. (2544). การประเมินโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง : กรณีศึกษา บ้านน้ำพุ หมู่ที่ 1 ตำบลพญาเย็น อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา. นครราชสีมา: สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการ สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.