น้อยหน่าลูกผสมพันธุ์เพชรปากช่อง


รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

   น้อยหน่าลูกผสมพันธุ์เพชรปากช่อง (Petch Pakchong) ปรับปรุงพันธุ์โดยสถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยงบสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นลูกผสมระหว่าง “ลูกผสมของเชริมัวย่า (Cherimoya) กับ น้อยหน่าหนังครั่ง” เป็นแม่ ผสมกับพ่อ “น้อยหน่าหนังเขียว”

ลักษณะทั่วไป ต้นขนาดต้นใหญ่ และสูงกว่าน้อยหน่าทั่วไป

ใบ ขนาดกลางรูปหอก กว้าง 7.4 ซม. ยาว 14.9 ซม. สีเขียวเข้ม เส้นใบเด่นเห็นชัด ทรงพุ่มโปร่ง ปานกลาง

ดอก ดอกใหญ่สั้น กว้าง .9 ซม. ยาว 2.8 ซม.

ผล ขนาดใหญ่รูปหัวใจ ผิวผลค่อนข้างเรียบมีร่องตาตื้นคล้ายน้อยหน่าหนัง ผลอ่อนมีสีเขียวเข้มเมื่อแก่จัด สีเขียวอ่อน-ขาวนวล ผลไม่แตกเมื่อแก่ เปลือกบางลอกออกจากเนื้อได้เมื่อสุกจัด เนื้อเหนียวคล้ายน้อยหน่าหนัง น้ำหนักผลเฉลี่ย 436.8 กรัม/ผล ปริมาณเนื้อ 72.4 % เมล็ดสีน้ำตาลอ่อนเฉลี่ย 19 เมล็ด/ผล

รสชาติ หวานหอม ความหวาน 20 บริกซ์ การสุกช้าเฉลี่ย 4.9 วัน อายุหลังการสุกยาวนาน หลังปลูกอายุ 2 ปีเริ่มให้ผลผลิตเฉลี่ย 2.2 กก./ต้น/ปี อายุ 3 ปีเฉลี่ย 4.4 กก./ต้น/ปี และอายุ 4 ปีเฉลี่ย 37.9 กก./ต้น/ปี เมื่อผลิตทั้งในและนอกฤดูกาล จุดเด่น ผลขนาดใหญ่ เนื้อมาก เมล็ดน้อย ให้ผลผลิตเร็ว และติดผลดกกระจายทั่วต้น

จุดด้อย มีเมล็ดน้อยจึงมีผลบิดเบี้ยว แต่ติดผลดกสามารถเลือกไว้ผลที่สมบูรณ์ได้อย่างเพียงพอ

ข้อได้เปรียบ หรือ ความน่าสนใจสำหรับเกษตรกร ปลูกง่าย ทนแล้ง บังคับให้ออกดอกติดผลได้ตลอดปีโดยวิธีการตัดแต่งกิ่งร่วมกับ การปลูก ระยะปลูก 4x4 เมตร วิธีการปลูก ตัดยอดออกเล็กน้อยเพื่อเร่งให้แตกพุ่มใหม่และลดการคายน้ำ ตั้งต้นให้ตรงปักไม้ค้ำยัน กลบดินให้แน่นใช้ฟาง แกลบ หรือเศษหญ้าแห้งคลุมหน้าดินแล้วรดน้ำให้ชุ่ม ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เพราะจะทำให้ต้นน้อยหน่าเจริญเติบโต และตั้งตัวได้เร็ว

การดูแลรักษา การให้ปุ๋ยควรใช้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยวิทยาศาสตร์ร่วมกัน การให้น้ำ ควรรักษาความชื้นในสวนให้อยู่ระหว่าง 70-80 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้การผสมเกสรติดผลสูงขึ้นให้ผลเจริญเติบโตดีเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าปกติ ขนาดของผล จำนวนผล และคุณภาพของผลดีกว่าปล่อยให้ผสมตามธรรมชาติ มีการปลิดผลอ่อนให้เหลือผลที่สมบูรณ์ สำหรับน้อยหน่า 2 ผล/กิ่ง และน้อยหน่าลูกผสม 1 ผล/กิ่ง แล้วห่อผลก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 1 เดือนเพื่อป้องกันแมลงวันทอง

โรคและการป้องกันกำจัด โรคที่สำคัญคือ โรคกิ่งแห้ง โรคมัมมี่ โรครากเน่า โรคผลเน่าดำ และโรคแอนแทรคโนส หากพบการระบาดโดยเฉพาะโรคแอนแทรคโนส ให้ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดรา ร่วมกับ การตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง ลมและแสงแดดส่องได้ทั่วถึง

แมลงศัตรูพืช การป้องกันกำจัด แมลงที่สำคัญ คือ แมลงวันผลไม้ หนอนเจาะกิ่ง ด้วงกินใบหรือแมลงค่อมทอง ด้วงทำลายดอก หนอนผีเสื้อเจาะผล เพลี้ยแป้ง ควรหมั่นตรวจแปลงอยู่เสมอโดยเฉพาะแมลงวันทองระบาดในช่วงผลแก่เริ่มสุก ถ้าหากมีการระบาดควรใช้วิธีป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน หรือถ้าใช้สารเคมีควรเก็บผลผลิตหลังการใช้สารเคมีอย่างน้อย 30 วัน ลักษณะทรงต้นน้อยหน่าที่ดีการห่อผลน้อยหน่าด้วยถุงห่อป้องกันแมลง

วัชพืชและการป้องกันกำจัด วัชพืชที่สำคัญมีทั้งชนิดฤดูเดียว และชนิดข้ามปี การป้องกันกำจัด เช่น ใช้จอบดาย เครื่องตัดหญ้า สารควบคุม หรือใช้ทั้งสามวิธีร่วมกัน

การเก็บเกี่ยว ควรเลือกเก็บผลที่ได้ขนาดและอายุใกล้เคียงกัน ประมาณ 110-120 วัน โดยใช้กรรไกรตัดขั้วผลให้ชิดกับไหล่ผล แล้วรวบรวมผลผลิตใส่ในภาชนะบรรจุที่สะอาดป้องกันการบอบช้ำ แล้วเก็บไว้ในที่ร่มอย่าให้โดนแดดก่อนการคัดแยกหรือคัดเกรด การคัดแยกน้อยหน่าหลังการเก็บเกี่ยว บรรจุเข่งส่งตลาดท้องถิ่น

การปฏิบัติการหลังการเก็บเกี่ยว คัดขนาดคุณภาพน้อยหน่าตามความต้องการของตลาด บรรจุลงภาชนะที่แข็งแรงรองด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ซ้อนกันหลายๆชั้นก่อนการบรรจุผลลงไปโดยต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น อาจห่อด้วยโฟมตาข่าย การเก็บรักษาควรเก็บในอุณหภูมิระหว่าง 15-20 องศาเซลเซียส ปริมาณและออกซิเจนต่ำ คาร์บอนไดออกไซด์ 10 % และความชื้นสัมพัทธ์ 85-90 % สามารถเก็บน้อยหน่าไว้ได้นานถึง 13 วัน และควรขนส่งให้ถึงมือผู้บริโภคให้เร็วที่สุด

หัวเรื่อง

ภูมิปัญญาชาวบ้านนครราชสีมา น้อยหน่า

หมวดหมู่

เกษตรกรรม

คำสำคัญ

พืชสวน

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 30130

รายการอ้างอิง

  1. น้อยหน่าลูกผสมเพชรปากช่อง. สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2561, จาก https://www.ku.ac.th/kaset60/ku60/atemoya.html
  2. เรืองศักดิ์ กมขุนทด. (2550). การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสมในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.