กำลังช้างเผือก


รายละเอียด

ชื่อวิทยาศาสตร์ Hiptage benghalensis (L.) Kurz 

วงศ์: MALPIGHIACEAE

ชื่อท้องถิ่น: โนรา สะเลา พญาช้างเผือก แหนปีก (ภาคอีสาน) กะลังจ่าง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะวิสัย จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้เถาขนาดใหญ่ สามารถเลื้อยไปได้ไกลและรวดเร็ว เถาเป็นสีเขียว กลมเกลี้ยง เนื้อไม้แข็ง ลำต้นแตกกิ่งก้านเล็กและห้อยลง ทรงต้นมีรูปร่างไม่แน่นอน​​​​​​​

การปลูก: ปลูกกลางแจ้งให้ได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ กิ่งที่อยู่กลางแดดจัด ได้รับแสงแดดเต็มที่จะออกดอกได้มากกว่ากิ่งที่อยู่ในร่ม ควรตัดแต่งกิ่งให้เป็นทรงพุ่มโปร่งและเป็นระเบียบ จะออกดอกได้ดกและสวยงาม

ต้น: ไม้พุ่มหรือไม้รอเลื้อยดอกหอมเถาขนาดใหญ่ สามารถเลื้อยไปได้ไกลและรวดเร็ว (เลื้อยไปได้ไกลประมาณ 10 เมตร) เถาเป็นสีเขียว ลักษณะกลมเกลี้ยง เนื้อไม้แข็ง ลำต้นแตกกิ่งก้านเล็กและห้อยลง (บ้างว่าแตกกิ่งก้านสาขามาก) ทรงต้นมีรูปร่างไม่แน่นอน

ใบ: ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเป็นคลื่น แผ่นใบหนาและเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบเรียบเป็นมันทั้งสองด้าน

ดอก: ช่อดอกยาวประมาณ 9-22 เซนติเมตรออกที่ปลายกิ่ง เป็นช่อ สีขาวอมชมพู กลีบดอกมี 5 กลีบ และมีขนยาว กลีบใหญ่จะมีประสีเหลือง มีเกสรยาว ออกดอกในช่วงหน้าหนาว ระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธุ์ ดอกย่อยทยอยบานทั้งช่อ และบานได้นาน 3-4 วันจึงโรย ส่งกลิ่นหอมโชยตลอดทั้งวัน กลิ่นหอมชื่นใจมาก

ผล: เป็นผลรูปกลม มีปีก 3 อันประกบกัน เมื่อผลแก่หลุดร่วงจะหมุนลงสู่พื้น หากลมพัดจะปลิวไปได้ไกลยิ่งขึ้น

การขยายพันธุ์: ด้วยการเพาะเมล็ด และวิธีการตอนกิ่ง นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง เพราะออกรากได้ง่าย และไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนช่วย

สรรพคุณ: แก่นเป็นยาอายุวัฒนะ ใช้ดองเป็นยาบำรุงกำลัง เปลือกต้นเป็นยาบำรุงโลหิต แก่นมีรสร้อนขื่น ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยแก้อาการก่อนเพลีย ช่วยขับลม แก้อาการจุกเสียดแน่นเฟ้อ แก่นใช้ดองกับเหล้าเป็นยาบำรุงกำหนัด  เปลือกต้นนำมาตำพอกใช้รักษาแผลสด ใบมีรสร้อนขื่น ใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง รักษาหิด รูมาติก (ใบ) แก่นและเปลือกต้นเป็นยาบำรุงเส้นเอ็น 

ประโยชน์: นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากดอกมีความสวย ออกดอกจำนวนมากในการออกดอกแต่ละครั้ง ดอกให้กลิ่นหอมตลอดทั้งวัน และในช่วงที่อากาศเย็นจะหอมมากเป็นพิเศษ ถ้าหากต้องให้ออกดอกบ่อย ๆ ก็ให้ปลูกกลางแจ้งเพื่อให้ได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ และควรตัดแต่งกิ่งให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เพราะต้นที่ถูกตัดแต่งกิ่งให้เป็นไม้พุ่มอยู่ตลอดเวลาจะไม่ค่อยออกดอก เนื่องจากพรรณไม้ชนิดนี้จะออกดอกบริเวณปลายกิ่ง โดยธรรมชาติแล้วพรรณไม้ชนิดนี้เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย แต่เราสามารถตัดแต่งให้เป็นไม้ยืนต้นแบบเดี่ยว ๆ ได้

หัวเรื่อง

พฤกษาพรรณบรรณสาร : ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

หมวดหมู่

เกษตรกรรม

คำสำคัญ

ไม้ประดับ

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000

รายการอ้างอิง

  1. กำลังช้างเผือก. สืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2562, จาก https://wisdomking.or.th/tree/1335
  2. วีระชัย ณ นคร. และปรัชญา ศรีสง่า. (2542). องค์การสวนพฤกษศาสตร์ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4. 
  3. กรุงเทพฯ : องค์การสวนพฤกษศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี.