มวยโคราช


รายละเอียด

      มวยไทยโคราช มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะชาวไทยมีการฝึกการต่อสู้ด้วยอาวุธสั้นประกอบกับศิลปะมวยไทย โดยมีเป้าหมายในการปกป้องประเทศชาติ อีกทั้งโคราชเป็นเมืองหน้าด่านชั้นเอก ที่ต้องทำการรบกับ ผู้รุกรานอยู่เสมอ จึงทำให้ชาวโคราชมีความเป็นนักสู้โดยสายเลือดมาหลายชั่วอายุคน

      เมื่อบ้านเมืองสงบ มวยไทยจึงพัฒนามาเป็นศิลปวัฒนธรรมทางการต่อสู้ป้องกันตัวประจำชาติไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นห้วงเวลาที่มวยคาดเชือกรุ่งเรือง มีการจัดการแข่งขันมวยคาดเชือกหน้า พระที่นั่งพลับพลาทรงธรรม สวนมิสกวัน ในงานศพของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช ในวันที่ 18-21 มีนาคม ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452) โดยให้หัวเมืองทั่วประเทศ คัดเลือกนักมวยฝีมือดีเข้ามาแข่งขัน นักมวยฝีมือดีชนะคู่ต่อสู้หลายคนจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย ทรงโปรดฯ พระราชทานยศและบรรดาศักดิ์ ให้กับนักมวยจากมณฑลนครราชสีมา เป็นขุนหมื่นครูมวย ถือศักดินา 300 คือ

- นายแดง ไทยประเสริฐ ลูกศิษย์ลูกศิษย์ของพระเหมสมาหาร เจ้าเมืองโคราช เป็นหมื่นชงัดเชิงชก นอกนี้ยังมีนักมวยจากโคราชอีกหลายคน ที่มีฝีมือดีที่เดินทางเข้าไป ฝึกซ้อมมวยกับกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ วังเปรมประชากร

เอกลักษณ์ของมวยไทยโคราช

- สวมกางเกงขาสั้นไม่สวมเสื้อ

- สวมมงคลที่ศีรษะขณะชกและที่พิเศษที่แตกต่างไปจากมวยภาคอื่น ๆ คือ การพันหมัดแบบคาดเชือกตั้งแต่หมัดขึ้นไปจรดข้อศอก เพราะมวยไทยสายโคราช เวลาต่อย เตะวงกว้าง และใช้หมัดเหวี่ยงควาย

กระบวนท่าของมวยไทยสายโคราช พบว่า มีการฝึกตามขั้นตอน ฝึกโดยการใช้ธรรมชาติ เมื่อเกิดความคล่องแคล่วแล้วทำพิธียกครู แล้วให้ย่างสามขุมและฝึกท่าอยู่กับที่ 5 ท่า ท่าเคลื่อนที่ 5 ท่า ท่าฝึกลูกไม้แก้ทางมวย 11 ท่า ฝึกท่าแม่ไม้สำคัญสำคัญ ประกอบด้วย ท่าแม่ไม้ครู 5 ท่า และท่าแม่ไม้สำคัญโบราณ 21 ท่า แล้วก็มีโครงมวยเป็นคติสอนนักมวยด้วย พร้อมทั้งคำแนะนำเตือนสติไม่ให้เกรงกลัวคู่ตู่สู้

ระเบียบประเพณีของมวยไทยสายโคราช วิธีจัดการชกมวยนิยมจัดชกในงานศพที่ลานวัด

     การเปรียบมวยให้ทหารตีฆ้องไปตามหมู่บ้านแล้วร้องบอก ให้ทราบทั่วกัน เมื่อเปรียบได้แล้วให้นักมวย มาชกประลองฝีมือกันก่อนหากฝีมือทัดเทียมกันก็ให้ชก แล้วนัดวันมาชก ในการเปรียบมวยไม่มีกฎกติกาที่แน่นอน หากพอใจก็ชกกันได้ รางวัลการแข่งขันเป็นสิ่งของเงินทอง หากเป็นการชกหน้า พระที่นั่งรางวัล ที่ได้รับก็จะเป็นหัวเสือและสร้อยเงิน

"นักมวยโคราช นักปราชญ์เมืองอุบล" นับว่า นครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีนักมวยมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่กล่าวขวัญ โดยนักมวยโคราชหลายคน ได้รับการกล่าวขวัญยกย่องในด้านความเก่งฉกาจของฝีมือ และชั้นเชิง

ในอดีตการแข่งขันชกมวยในโคราชจะชกกันที่วัด ในงานศพของผู้มีฐานะดี วัดที่มีการชกมวยกันบ่อย คือ วัดหนองบัวรอง และ วัดสะแก ในตัวเมืองนครราชสีมาก ซึ่งมีงานศพมาก ส่วนวัดโพธิ์จะมีนาน ๆ ครั้ง ส่วนใหญ่จะชกกันบนพื้นดิน โดยเฉพาะพื้นดินที่เป็นทรายจะนิยมมาก เพราะเวลาล้มไม่เจ็บตัว สถานที่ที่ชกมวยใช้เชือกมะลิลากั้น เป็นเวทีสี่เหลี่ยม มีเชือก 3 เส้น การชกแต่ละครั้งมีไม่เกิน 5 คู่ ประธานในการชกคือ สมุหเทศาภิบาล หรือ เจ้าเมือง ซึ่งถือว่าเป็นประธานแทนองค์พระมหากษัตริย์ นักมวยทุกคนต้องถวายบังคมแล้วไหว้ครูก่อนชกเสมอ

      ท่าร่ายรำในการไหว้ครู ถือเป็นส่วนหนึ่งของการถวายบังคมนั้นเอง ผู้ชกฝีมือดีชนะจะได้รางวัลหลายชั่ง ถ้าแพ้จะได้คู่ละ 1 บาท

      ผู้ที่มีส่วนในการปลุกปั้นมวยโคราช คือ พระยากำแหงสงคราม (นายจัน อินทรกำแหง) พระยาฤทธิรงค์รณเฉท พระเหมสมาหาร และครูสวน

      นักมวยที่สร้างชื่อเสียงให้แก่เมืองนครราชสีมา ได้แก่ 

- หมื่นแม่น 

- มวยหมัด

- หมื่นชงัด เชิงชก (ในสมัยรัชกาลที่ 6)

- นายหยัง หาญทะเล

สุข ปราสาทหินพิมาย ฉายา "ยักษ์สุข และ สุข ยักษ์ผีโขมด" และกิตติศัพท์แม่ไม้มวยไทย โดยเฉพาะศอกสั้น อันตราย เกียรติประวัติปรากฏในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2489-2496 ณ เวทีราชดำเนิน เป็นชื่อเสียงระดับประเทศ

      นักมวยรุ่นใหม่ลูกหลานชาวโคราชอย่างแท้จริงที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เช่น

- เนตรน้อย ศ.วรสิงห์ แชมป์โลกคนที่ 6 รุ่นไลท์ฟลายเวท (WBC)

- นภา เกียรติวันชัย แชมป์โลกคนที่ 13 รุ่นสตอร์วเวท (WBC)

- รัตนพล ส.วรพิน แชมป์โลกคนที่ 17 รุ่นมินิฟลายเวต (IBF) เจ้าของคำพูดก่อนขึ้นชกว่า "ไชโย ไชโย ย่าโมออกศึก"

- วีรพล นครหลวงโปรโมชั่น แชมป์โลกรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท (WBC)

- ฉัตรชัย อีลิทยิม แชมป์โลกคนที่ 26 รุ่นฟลายเวท (WBC)

- พงษ์ศักดิ์เล็ก ศิษย์คนองศักดิ์ แชมป์โลกคนที่ 31 รุ่นฟลายเวท (WBC)

- สุริยา ปราสาทหินพิมาย เหรียญทองแดง มวยสากลสมัครเล่น กีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 28 (พ.ศ. 2547) ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ

 

หัวเรื่อง

มวยโคราช

หมวดหมู่

บุคคล

คำสำคัญ

มวย, มวยโคราช, นักกีฬา

รายการอ้างอิง

  1. ประยูรศรี อินทรกำแหง ... [และคนอื่น ๆ]. [คณะผู้จัดทำ]. (2556). 140 ปี ชาตกาลขุนโบสถ์บริหาร 100 ปี การขนานนามสกุล. [ม.ป.ท. : ม.ป.พ.].