วัดบ้านไร่


รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

       วัดบ้านไร่เดิมเป็นสำนักสงฆ์ที่มีมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2436 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ในรัชกาลที่ 5 โดยมีพระอาจารย์เชื่อม วิรโช เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกได้มีการก่อสร้างศาสนอาคารต่าง ๆ ขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เป็นเจ้าอาวาสได้มีการพัฒนาวัดมากที่สุด ด้วยมีผู้ศรัทธาจากทั่วประเทศได้ร่วมถวายวัตถุปัจจัยเป็นเงินมหาศาล หลวงพ่อคูณได้ก่อตั้งเป็นมูลนิธิหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เพื่อกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การบูรณะวัด การสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น

ลักษณะวัด พัทธสีมา

ประเภทวัด วัดราษฎร์

อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ ศาลาการเปรียญ วิหาร ศาลาหอฉัน ศาลาปฏิบัติธรรม กุฏิสงฆ์ หอกลอง-ระฆัง ศาลาบำเพ็ญกุศล และฌาปนสถาน การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ

1. หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ (-2558)

2. พระภาวนาประชานาถ (นุช รตนวิชโย) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสนใจ - แหล่งท่องเที่ยวเชิงพุทธด้านเกจิอาจารย์ เช่น หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ

- พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ จัดสร้างขึ้นเพื่อนำเสนอเรื่องราวชีวประวัติหลวงพ่อคูณ ตั้งแต่เยาว์วัย การอุปสมบทเป็นพระภิกษุ วัตรปฏิบัติในสมณะเพศที่ถือสันโดษและพระนักพัฒนา แรงศรัทธามหาชน รวมทั้งการบริจาคทานจำนวนมหาศาล เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ให้แก่ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศและบางส่วนในต่างประเทศ        

พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ แบ่งเป็น 2 ชั้น 11 โซน        

      โซน 1 ศรัทธามหาชน จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อคูณท่านั่งยองๆ ขนาดเท่าจริง ภาพจิตรกรรมและแสดงภาพประชาชนมากราบนมัสการหลวงพ่อ นิทรรศการเรื่องเอกลักษณ์หลวงพ่อคูณ อาทิ การนั่งยอง รับปัจจัยใบเดียว เหยียบโฉนด เคาะหัว วัตถุมงคล เป็นต้น

      โซน 2 ภิกษุสมถะแห่งดินแดนอีสาน จัดแสดงสิ่งของ จำลองบรรยากาศเหมือนห้องนอนเดิมของหลวงพ่อ นิทรรศการเล่าเรื่อง "ธรรมะข้างบันได" และภาพแสดงในหัวข้อ เทพเจ้าแห่งที่ราบสูง แบบอย่างของผู้บำเพ็ญทานบารมี

      โซน 3 กำเนิดผู้มีบุญ จัดแสดงหุ่นจำลอง ประกอบเทคนิคแสงเสียง ตอนโยมแม่ฝันเห็นดวงแก้ว อันเป็นนิมิตหมายอันดีของผู้มีบุญที่กำลังจะถือกำเนิด และภาพจิตรกรรม กำเนิดผู้มีบุญ

       โซน 4 ตั้งจิตช่วยคนพ้นทุกข์ จัดแสดงภาพจิตรกรรมเมื่อครั้งที่หลวงพ่อได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และตั้งจิตปณิธานช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์

      โซน 5 ออกธุดงค์ จัดแสดงหุ่นจำลองย่อส่วนประกอบเทคนิคภาพเคลื่อนไหวและแสงเสียง จำลองเหตุการณ์เทศนาโปรดสัมภเวสี เมื่อครั้งออกธุดงค์ ในช่วงปี พ.ศ. 2492-2495 และนิทรรศการ จาริกบุญ จาริกธรรม เส้นทางธุดงค์ 3 ประเทศ ไทย-ลาว-เขมร

      โซน 6 พัฒนาวัดบ้านไร่ จัดแสดงหุ่นจำลองย่อส่วน 4 เหตุการณ์ ได้แก่ หลวงพ่อคูณสร้างโบสถ์ไม้เพื่อใช้ประกอบศาสนกิจของพระลูกวัด, หลวงพ่อคูณนำชาวบ้านขุดสระน้ำเพื่อเป็นที่เก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง, หลวงพ่อคูณปีนขึ้นเจิมป้ายโรงเรียนวัดบ้านไร่เพื่อความเป็นสิริมงคล และหลวงพ่อคูณใช้ยอดสากตำมวลสารศักดิ์สิทธิ์ นำมาสร้างพระเครื่องให้ศิษยานุศิษย์ได้บูชา มีบอร์ดแสดงภาพของการพัฒนาวัดบ้านไร่

      โซน 7 ทำบุญกับพระเจ้าอยู่หัว ประมวลภาพพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์

      โซน 8 มรดกทาน มรดกธรรม จัดแสดงรูปหล่อสำริดหลวงพ่อคูณท่านั่งวิปัสสนา วัตถุอันเป็นที่ระลึกถึงคุณูปการ เกียรติคุณของหลวงพ่อคูณที่ได้รับการเชิดชูยกย่องจากหน่วยงาน สถาบันและองค์กรต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งข้อความในพินัยกรรม (มรณานุสติ)

      โซน 9 ทานบารมีทวีคูณ แสดงงานกราฟิกบนประติมากรรมต้นไม้แห่งทานบารมี วีดิทัศน์ประมวลภาพคอมพิวเตอร์ แสดงข้อมูลเรื่องการบริจาคทานของหลวงพ่อคูณในด้านต่าง ๆ

      โซน 10 เครื่องยึดเหนี่ยวใจ ใฝ่ทำดี มีตู้จัดแสดงวัตถุมงคลรุ่นต่างๆ คอมพิวเตอร์เพื่อค้นคว้า สำหรับให้ผู้ชมได้อ่านข้อมูลวัตถุมงคลรุ่นต่างๆ ที่ได้รวบรวมไว้

      โซน 11 ให้แล้วรวย จัดแสดงวีดิทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญทำทาน สอดแทรกคำสอน ประติมากรรมต้นไม้แผ่ความรวย นอกจากนี้ ได้จัดแสดงผนังภาพ "9 บุญคูณลาภ" แนะนำจุดทำบุญภายในวัดบ้านไร่ 9 แห่ง เพื่อความเป็นสิริมงคล

การเดินทาง

- รถยนต์ส่วนตัว จาก อ. ด่านขุนทด ใช้ทางหลวงหมายเลข 2217 ไปทาง อ. บำเหน็จณรงค์ จ. ชัยภูมิ ประมาณ 11 กม. จะเห็นซุ้มประตูวัดบ้านไร่ทางขวามือชัดเจน เลี้ยวเข้าไปอีกประมาณ 1 กม. จะถึงที่ตั้งวัด ถ้าหากมาจากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 2 ผ่าน อ. ปากช่อง ถึง อ. สีคิ้ว เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 201 ขับตรงไปจนถึง อ. ด่านขุนทด

- รถประจำทาง นั่งรถสองแถวที่หน้า รพ. ด่านขุนทด หรือนั่งมอเตอร์ไซต์รับจ้างจากหน้า รพ. ด่านขุนทด

หัวเรื่อง

วัดในจังหวัดนครราชสีมา

หมวดหมู่

ศาสนสถาน

คำสำคัญ

วัด

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:111 ถนนด่านขุนทด-คำปิง บ้านไร่ หมู่ที่ 6 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา 30210
โทรศัพท์:0-4425-3113, 0-4424-9887, 0-4424-9888
โทรสาร:0-4424-9889

คลังภาพ

ป้ายวัดบ้านไร่
พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ
บริเวณภายในวัดมุมกว้าง
บริเวณภายในวัด
โบสถ์
โบสถ์ด้านข้าง
ภาพถ่ายมุมสูงบริเวณภายในวัด
ด้านหลังโบสถ์
ระเบียงทางขึ้น
อาคารพิพิธภัณฑ์
รูปแบบการนำเสนอนิทรรศการ
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์
นิทรรศการจำลองของหลวงพ่อคูณพัฒนาวัด
นิทรรศการถาวรจำลองของหลวงพ่อคูณ
แผ่นยันต์
เหรียญหลวงพ่อคูณ
โซน 1 ศรัทธามหาชน
โซน 2 ภิกษุสมถะแห่งดินแดนอีสาน
โซน 4 ตั้งจิตช่วยคนพ้นทุกข์
โซน 5 ออกธุดงค์
โซน 6 พัฒนาวัดบ้านไร่
โซน 7 ทำบุญกับพระเจ้าอยู่หัว
โซน 8 มรดกทาน มรดกธรรม
โซน 9 ทานบารมีทวีคูณ
โซน 10 เครื่องยึดเหนี่ยวใจใฝ่ทำดี
โซน 11 ให้แล้วรวย
หุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อคูณ
ห้องจัดแสดงพระเครื่องรุ่นต่างๆ
ชุดถ้วยชามสังคโลก

รายการอ้างอิง

  1. กระทรวงศึกษาธิการ. กรมการศาสนา. (2542).ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 17. กรุงเทพฯ: กระทรวง.
  2. จิตติมา ผลเสวก. (2545). นครราชสีมา. กรุงเทพฯ: สารคดี.
  3. ทิดชาย บำรุง. (2553). พลวัตการท่องเที่ยวอีสานใต้ : ค้นหารอยยิ้มร่วมสมัยแห่งกาลเวลาผ่านงานวิจัย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
  4. พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2556, จาก http://www.bt-50.com/topic.php?q_id=11675
  5. พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2556, จาก http://www.luangporkoon-museum.com/park/info.html สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครราชสีมา. ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ. บัญชีรายชื่อวัดในจังหวัดนครราชสีมา (ปี 2560). สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2562, จาก http://sites.google.com/a/secondary33.go.th/sanakngan-phraphuthth-sasna-canghwad-nkhrrachsima/baychi-ray-chux-wad-ni-canghwad-nkhrrachsima-pi2560