วัดประโดก


รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา     

      ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2317 สังกัดมหานิกาย วัดประโดก และหมู่บ้านประโดก เป็นถิ่นฐานที่อยู่ดั้งเดิมของชนชาวอีสานที่มีวัด และหมู่บ้านเก่าแก่มาช้านาน มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นมาก จึงได้แยกย้ายหมู่บ้านไปอยู่รอบ ๆ หมู่บ้านเดิม ซึ่งมีป่ากระโดน ทั้งต้นกระโดนโคก กระโดนทุ่ง และกระโดนดิน ภาษากลางเรียกกระโดนทุ่งว่า ต้นจิก ซึ่งเมื่อก่อนมีอยู่ทั่วไป หมู่บ้านแถบนี้จึงเรียกชื่อหมู่บ้านเป็นภาษาท้องถิ่นว่า บ้านป่าโดน ครั้นนานไปก็เพี้ยนเป็น ป่าโคก หรือ ประโดก ตามชื่อปัจจุบันในขณะนี้     หนังสือทำเนียบคณะสงฆ์ ฉบับพิมพ์โดยอนุญาตของเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เมื่อรัตนโกสินทรศก 123 (ตรงกับ พ.ศ. 2447) ว่า วัดประโดก ตำบลประโดก อำเภอเมือง ฝั่งตะวันออกเมืองนครราชสีมา นามเจ้าอาวาส พระปุ๊ก ขณะนั้นพรครูชิโนรสธรรมรูจี (อยู่) เป็นเจ้าคณะแขวง พระครูสิงหราชสมาจารมุนี เป็นเจ้าคณะเมือง (เปลี่ยนเป็นเจ้าคณะจังหวัดเมื่อ พ.ศ. 2459)     ตามทะเบียนสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา ได้บันทึกไว้ว่าเป็นวัดเก่าแก่สร้างเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2317 สมัยกรุงธนบุรี ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2331 ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่จากการพบวัตถุดินเผาที่ด้านหลังโบราณวัตถุ เช่น ภาชนะดินเผา ที่ขุดพบที่บริเวณหลังอุโบสถเก่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่าง พ.ศ. 2418-2231 คือ ภายหลังสร้างเมืองนครราชสีมา โดยมีที่ดินตั้งวัด จำนวน 12-3-18 ไร่

ลักษณะวัด พัทธสีมา

ประเภทวัด วัดราษฎร์

อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถหลังเก่า และอุโบสถหลังใหม่ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2526 เป็นอาคารทรงไทย กว้าง 9 เมตร ยาว 24 เมตร สูง 20 เมตร มีเสาหาญระเบียงรอบ ท่านเจ้าคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุญฺณโก) วัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพมหานคร เป็นประธานวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2526 ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ วิหาร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาบำเพ็ญกุศล หอระฆัง หอฉันท์ กุฏิสงฆ์ ศาลาบำเพ็ญกุศล และฌาปนสถาน

การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ

1. พระอาจารย์เขียว นิลเชษฐ์

2. พระอาจารย์ปุ๊ก

3. พระอาจารย์แถม พุ่มเกาะ

4. อาจารย์นาค มินกระโทก

5. พระอาจารย์อินทร์

6. พระอาจารย์เตียง ตูบสันเทียะ

7. พระอาจารย์เบ้า ชุนเกาะ

8. พระอธิการลำดวน กิตฺติสาโร

9. พระมหาฉาย ติสฺสวโร

10. พระสมุห์ชโลม กิตฺติโสภโณ 4 ก.ค. พ.ศ. 2528

11. พระครูกิตติธรรมโชติ กิตฺติโสภโณ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสนใจ

- อุโบสถหลังเก่า เป็นอาคารก่อด้วยอิฐถือปูน สืบไม่ได้สร้างเมื่อใด ใครเป็นผู้สร้าง เมื่อชำรุดได้ทำการรื้อหลังคาและกำแพงผนังออกทั้งหมด เหลือไว้แต่ฐาน เอวขันสูงประมาณ 1.50 เมตร ส่วนฐานรากทำด้วยศิลาแลงก้อนสี่เหลี่ยมจตุรัสกว้างยาวและหนาเท่ากัน ใหญ่ประมาณ 80 เซนติเมตร ต่อมาได้มีการสร้างอุโบสถขึ้นใหม่แทนหลังเก่า ซึ่งชำรุดทรุดโทรมเป็นหลังที่ 2 เป็นอาคารครึ่งไม้หลังคามุงกระเบื้องดินเผา (กระเบื้องมอญ) ฝาผนังทำเป็นลูกกรง ตั้งเสาบนฐานเอวขัน อุโบสถหลังนี้มีอักษรจารึกไว้ที่ฐานชุกชีเก่าว่า "คุณนายนกแก้ว หลวงศรี เป็นผู้บูรณะปฏิสังขรณ์ ครั้นถึงปี พ.ศ. 2479 พระอาจารย์ปุ๊ก ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในสมัยนั้นเห็นว่าอุโบสถมีสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงได้รื้อออกทั้งหมด เว้นแต่กำแพงผนังก่อด้วยอิฐถือปูน ซึ่งก็อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมเช่นกัน และไม่ได้รูปแบบเป็นศิลปวัฒนธรรมที่สวยงาม ส่วนพระประธานประจำอุโบสถได้สร้างขึ้นใหม่ทำด้วยปูนปั้น หน้าตักกว้าง 1 เมตร 58 เซนติเมตร (62 นิ้ว)

- พระประธานอุโบสถหลังเก่า เป็นพระศิลาทราย สมัยลพบุรี มีอยู่ 2 องค์ ปางสมาธินาคปรก และปางสมาธิไม่มีนาคปรก

- เสมาอุโบสถหลังเก่า เป็นศิลาทรายแผ่นใหญ่ได้ขนาดถูกต้องตามอรรถกถาในพระวินัย ตั้งไว้เป็นกลุ่ม กลุ่มละ 2-3 แผ่น เพื่อเป็นสีมามิตแทนลูกนิมิต ปัจจุบันสีมาดังกล่าวถูกทำลายเสียหายเป็นส่วนมาก ที่เหลือทางวัดได้รวบรวมฝังไว้ในที่เดิม

หัวเรื่อง

วัดในจังหวัดนครราชสีมา

หมวดหมู่

ศาสนสถาน

คำสำคัญ

วัด

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:บ้านประโคก หมู่ที่ 1 ตำบลหมื่นไวย อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000

รายการอ้างอิง

  1. กระทรวงศึกษาธิการ. กรมการศาสนา. (2542). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 17. กรุงเทพฯ: กระทรวง. ราชยา บุญอินทร์. พชร การเร็ว. และวรรณา หนูชมแก้ว. (2557). วัดในอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา วัดหนองหญ้างาม วัดหมื่นไวย วัดประโดก วัดเวฬุวนาราม (โคกไผ่) วัดสระบัวเกลื่อน. นครราชสีมา: สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครราชสีมา. ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ. บัญชีรายชื่อวัดในจังหวัดนครราชสีมา (ปี 2560). สืบค้นจาก http://sites.google.com/a/secondary33.go.th/sanakngan-phraphuthth-sasna-canghwad-nkhrrachsima/baychi-ray-chux-wad-ni-canghwad-nkhrrachsima-pi2560