วัดน้ำฉ่า


รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

    ตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2325 สังกัดมหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2521 ที่มาของชื่อวัด เนื่องจากในสมัยก่อน ชาวบ้านน้ำฉ่า ได้นำก้อนหินน้อยใหญ่มากั้นเป็นทำนบริมคลอง เวลาน้ำไหลจะได้ยินเสียงน้ำกระทบหินดังฉ่า ๆ ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านว่า "บ้านน้ำฉ่า"

ลักษณะวัด พัทธสีมา

ประเภทวัด วัดราษฎร์

อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถหลังใหม่ เป็นอาคารคอนกรีตก่อด้วยอิฐถือปูน สร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2511 ใช้ประกอบพิธีทาง ศาสนา ของชาวบ้านน้ำฉ่า หมู่ 3 และบ่้านน้ำฉ่าสายชล หมู่ที่ 8 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญ ศาลาหอฉัน กุฏิสงฆ์ และฌาปนสถาน

การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ

1. พระเบี้ย

2. พระหลี

3. พระพูน

4. พระเกตุ

5. พระขำ

6. พระทำ

7. พระโต

8. พระครูเกษมธรรมาภิรัต พ.ศ. 2515- เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสนใจ

- อุโบสถหลังเก่า สร้างด้วยอิฐสอปูน เสาเป็นไม้ ฐานเป็นศิลาแลง สันนิษฐานว่าสร้างทับอโรคยาศาล ศิลปกรรมสมัยขอมพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สมัยเดียวกับปราสาทเขาพนมรุ้ง เพดานอุโบสถ มีภาพเขียนสีจิตรกรรมไทยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับภาพจินตนาการสัตว์หิมพานต์ พุทธประวัติ ปัจจุบันได้มีการบูรณะด้วยการเขียนสีขึ้นใหม่ทดแทนสีเดิมที่ซีดจางตามกาลเวลา โดยช่างฝีมือภายในหมู่บ้าน ส่วนหลังคาได้สร้างขึ้นใหม่ หน้าบันอุโบสถ เป็นรูปเทพนมลายก้านขด ด้านหลังตรงฐานอุโบสถเป็นภาพแกะสลักหินทรายเทพและยักษ์กวนเกษียรสมุทร อีกภาพเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ

หัวเรื่อง

วัดในจังหวัดนครราชสีมา

หมวดหมู่

ศาสนสถาน

คำสำคัญ

วัด

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:หมู่ที่ 3 ตำบลโป่งแดง อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา 30280

รายการอ้างอิง

  1. กระทรวงศึกษาธิการ. กรมการศาสนา. (2542). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 17. กรุงเทพฯ: กระทรวง.