เนื้อหา: เครื่องปั้นดินเผา และโบราณคดี
พิพิธภัณฑ์แห่งนี่ถือกำเนิดจากการรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) อดีตพระเถระสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้สะสมโบราณศิลปวัตถุจากจังหวัดต่าง ๆ ต่อมา ด้วยความตระหนักถึงคุณค่าทางการศึกษาโบราณศิลปวัตถุเหล่านี้ จึงได้มีการมอบสิ่งของที่รวบรวมให้กับกรมศิลปากร เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนผู้สนใจชม
ในปี พ.ศ. 2497 กรมศิลปากรได้สร้างอาคารชั้นเดียวทรงไทยประยุกต์ขึ้น 1 หลัง ภายในพื้นที่ของวัดสุทธจินดา จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้น ซึ่งนอกจากจะจัดแสดงของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์รวบรวมไว้แต่เดิมแล้ว ยังจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุที่ได้จากแหล่งโบราณคดี โบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งสิ่งของที่ประชาชนบริจาคให้เพิ่มเติมในภายหลังด้วย และตั้งชื่อพิพิธภัณฑสถานฯ ที่สร้างขึ้น เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ริเริ่มก่อตั้งว่า "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์"
สิ่งที่น่าสนใจ
- พระพุทธรูปสมัยทวารวดี เป็นพระพุทธรูปที่ได้จากแหล่งโบราณคดีเมืองเวมา และเมืองโคราฆปุระที่เชื่อว่าเป็นชุมชนแรกเริ่มของโคราช พระพุทธรูปทวารวดีมีพุทธลักษณะคล้ายพระพุทธรูปลพบุรี คือ ปากหนา ตาโปน วงหน้าเป็นเหลี่ยม และนิยมทำพุทธรูปปางนาคปรก
- เครื่องถ้วยและภาชนะดินเผา เป็นเครื่องถ้วนที่เผาจากเตาบุรีรัมย์ สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของเมืองแถบนี้ เครื่องถ้วยและไหมีหลายขนาดจัดแสดงไว้จำนวนสองตู้ มีทั้งสีเขียว สีน้ำตาล มีลวดลายสวยงามต่าง ๆ เช่น ลายนก แต่ละใบมีรูปแบบศิลปะเขมรที่แผ่อิทธิพลเข้ามาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-18
การเดินทาง
- รถยนต์ส่วนบุคคล จากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีใช้ ถ. ราชดำเนินตรงไปทางศาลากลางจังหวัด เยื้องศาลากลางจะเป็นที่ตั้งวัด
จัดการโดย: หน่วยงานราชการ
สถานะ: เปิดดำเนินการ
วันและเวลาทำการ: 09.00-16.00 น. หยุดวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์
พิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ในจังหวัดนครราชสีมา
พิพิธภัณฑ์, โบราณคดี, โบราณสถาน
ที่อยู่: | วัดสุทธจินดา 774 ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000 |
โทรศัพท์: | 0 4424 2958 |
เว็บไซต์: | http://www.nationalmuseums.finearts.go.th/mahaviravong/history.htm |