ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดนครราชสีมาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร มีพื้นที่รับผิดชอบราว 2,658 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่สำคัญของเมืองพิมายในอดีต ด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกจรดแม่น้ำมูล ทิศตะวันตกจรดลำจักราช และด้านทิศใต้ ครอบคลุมสุดเขตบารายด้านทิศใต้ เป็นสถานที่ของปราสาทหินพิมาย ซึ่งเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่มีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
ประวัติ
กรมศิลปากร ได้ดำเนินการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้ โดยดำเนินการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองพิมายในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479 และได้ดำเนินการบูรณะปราสาทหินพิมายครั้งใหญ่ ระหว่าง พ.ศ. 2507-2512 โดยกรมศิลปากรร่วมกับรัฐบาลฝรั่งเศส ทำการบูรณะปราสาทประธานด้วยเทคนิค "อนัสติโลซีส" (ANASTYLOSIS) คือ การนำชิ้นส่วนต่าง ๆ ของตัวปราสาทประกอบเข้าด้วยกันตามหลักวิชาการและนำกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม รวมทั้งได้บูรณะโบราณสถานในเมืองพิมายอย่างต่อเนื่อง
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ได้กำหนดให้ เมืองโบราณพิมายและปราสาทหินพิมายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2529 โดยได้ดำเนินการปรับปรุงจัดตั้งถึง 13 ปี ระหว่างกรมศิลปากร และประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519-2532 ต่อมากรมศิลปากรจึงได้จัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พิมายขึ้น และดำเนินการบูรณะปรับปรุงโบราณสถานอื่น ๆ ที่สำคัญจนแล้วเสร็จ โดยมีการอนุรักษ์และบูรณะเป็นอย่างดี ได้จัดตั้งเป็น อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2532 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน
สิ่งน่าสนใจ
- ปราสาทหินพิมาย เป็นปราสาทหินหันหน้าไปทางทิศใต้ไปทางที่ตั้งของเมืองพระนครซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรขอม ปราสาทหินพิมายมีแบบแปลนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 565 ม. ยาว 1,030 ม. มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีรูปแบบศิลปกรรมขอม แบบบาปวนและนครวัดที่มีความงดงาม เชื่อว่าเป็นต้นแบบในการสร้างนครวัดในเขมร ปราสาทหินแห่งนี้ตั้งอยู่กลางเมืองพิมายซึ่งเป็นเมืองโบราณที่สำคัญของภูมิภาค มีเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงกับเมืองสำคัญทางตอนเหนือของลาวและทางตอนใต้ของขอม โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธสถานในลัทธิมหายาน สันนิษฐานว่าสร้างในยุคที่อาณาจักรขอมแผ่อิทธิพลมายังภูมิภาคนี้ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1761) มหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักรขอมใน พ.ศ. 2479 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติและเริ่มบูรณะในปี พ.ศ. 2494 และ พ.ศ. 2497 โดยกรมศิลปากรได้บูรณะองค์ปรางประธานอีกครั้ง โดยได้รับเงินงบประมาณจากรัฐบาลฝรั่งเศส จนแล้วเสร็จในช่วงปี พ.ศ. 2507-2512 ล้อมรอบด้วยคูน้ำ มีประตูเมืองทั้งสี่ทิศ ภายในบริเวณปราสาทหินมีโบราณสถานที่น่าสนใจหลายแห่งโดยเริ่มตั้งแต่ทางเข้าตามลำดับ ดังนี้
- พลับพลา หรือ คลังเงิน ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ากำแพงชั้นนอก ด้ายซ้ายมือของทางเดินเข้าสู่ตัวปราสาท เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เดิมเรียกว่า คลังเงิน จากประตูชัยเข้าไปก่อนถึงตัวปรางค์ จะเห็นคลังเงินตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก หรือทางด้านซ้ายมือ ปัจจุบันอาคาร "คลังเงิน" เพราะเคยพบเหรียญสำริดโบราณ ซึ่งด้านหนึ่งเป็นรูปครุฑ หรือ หงส์ อีกด้านหนึ่งเป็นอักษรโบราณ นอกจากนี้ยังพบทับหลังจำหลักเป็นรูปคนกำลังหลั่งมอบม้าแก่พราหมณ์
- สะพานนาคราช เป็นทางที่ทอดนำเข้าสู่ตัวปรางค์ มีนาคทอดตัวยาวเป็นราวบันได ชูเศียรทั้งเจ็ดแผ่พังพานเปล่งรัศมีอย่างสวยงาม ที่เชิงบันไดนาคทั้งสองข้างมีสิงห์จำหลักจากหินประดับอยู่ข้างละตัว สิงห์มีท่าทางองอาจเสมือนเป็นผู้พิทักษ์โบราณสถาน
- ซุ้มประตู หรือโคปุระชั้นนอก มีทั้งหมดสี่ด้านอยู่กึ่งกลางแนวกำแพง ลักษณะการสร้างเหมือนกันทุกด้าน คือมีขนาดกว้างสามคูหามีเสาศิลา ช่องลมประดับข้างละสองช่อง
- พระระเบียง พระระเบียงแต่ละด้านมีซุ้มประตู หรือโคปุระชั้นในอยู่กึ่งกลาง ที่น่าสนใจคือที่กรอบประตูด้านทิศใต้มีจารึกบนแผ่นหินเป็นอักษรเขมรโบราณกล่าวถึงการสร้างเมืองพิมาย และการสร้างรูปเคารพ
- ปรางค์ประธาน มีขนาดใหญ่ที่สุดในจำนวนปรางค์ทั้งสามองค์ สร้างขึ้นช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 หันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทขอมแห่งอื่น ๆ ที่มักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าหันไปยังที่ตั้งเมืองพระนคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจของขอมในอดีต
- ปรางค์พรหมทัต ก่อด้วยศิลาแลง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1761) เมื่อคราวที่พระองค์ทรงบูรณะปราสาทหินพิมาย ภายในปรางค์พบประติมากรรมศิลารูปบุคคลขนาดใหญ่นั่งขัดสมาธิ ชาวบ้านเรียกกันว่า ท้าวพรหมทัต และพบรูปผู้หญิงนั่งคุกเข่าที่ชาวบ้านเรียกว่า นางอรพิมพ์
- ปรางค์หินแดง ตั้งอยู่ด้านขวาของปรางค์ประธาน ก่อด้วยกินทรายสีแดง สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์
- บรรณาลัย เป็นที่เก็บรักษาตำราทางศาสนา หรืออาจเป็นที่ประทับของกษัตริย์เมื่อเสด็จมาทรงประกอบพิธีกรรม - สระน้ำ หรือบาราย เป็นสระน้ำที่ขุดขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำไว้อุปโภคบริโภค บางคนก็เชื่อว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรม
- ประตูชัย เป็นหนึ่งในประตูเมืองซึ่งมีอยู่ทั้งสี่ทิศ ประตูชัยอยู่ทางด้านทิศใต้ของปราสาทพิมายรับกับถนนโบราณที่ทอดตรงมาจากเมืองพระนครในเขมร มีแผนผังการก่อสร้างเหมือนกันทุกประตู คือเจาะเป็นช่องสูงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลงด้านข้างทั้งสองด้านของประตูมีห้องอยู่สามห้อง
- กุฏิฤาษี บริเวณที่ตั้งกุฏิฤาษีเป็นจุดสิ้นสุดของถนนโบราณที่มีต้นทางมาจากเมืองพระนครในเขมร แต่ไม่เหลือร่องรอยถนนไว้ให้เห็นเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ปัจจุบันนี้เหลือให้เห็นเพียงแต่ซากกำแพงศิลาแลงกับปราสาทเท่านั้น
- ท่านางสระผม เป็นโบราณสถานนอกกำแพงเมือง ตั้งอยู่ริมลำน้ำเค็มทางทิศใต้ของเมือง เดิมทีเป็นเพียงเนินดินใหญ่ที่มีเศษภาชนะดินเผาและเศษกระเบื้อง กระทั่งได้รับการขุดแต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531 จึงพอเห็นรูปรอยว่าเป็นอาคารทรงกากบาทก่อด้วยศิลาแลงมีฐานเป็นชั้น ๆ สันนิษฐานว่าคงเป็นศาลาจัตุรมุข ซึ่งเป็นท่ารับเสด็จเจ้านายทางฝั่งพิมาย เพราะเป็นท่าน้ำแห่งเดียวที่อยู่ในแนวถนนโบราณ
การเดินทาง
รถยนต์ส่วนตัว จากตัวเมืองโคราชใช้ถนนมิตรภาพ หรือทางหลวงหมายเลข 2 โคราช-ขอนแก่น ประมาณ 50 กิโลเมตร บริเวณทางแยกตลาดแคให้เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 206 อีก 10 กิโลเมตร จะถึงปราสาทหินพิมายซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองพิมาย
รถประจำทาง ขึ้นรถโดยสารโคราช-พิมาย ที่สถานีขนส่งแห่งที่ 2 ในตัวเมืองโคราชมีทั้งรถปรับอากากาศและรถธรรมดา รถจอดหน้าปราสาทหินพิมาย
พิพิธภัณฑ์
สถานที่ท่องเที่ยว
โบราณคดี, ประวัติศาสตร์
ที่อยู่: | ถนนท่าสงกรานต์ ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา 30110 |