วัดโคกศรีสะเกษ


รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

         สังกัดมหานิกาย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2432 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2433 ในปัจจุบันยังไม่พบประวัติวัดโคกศรีสะเกษ มีเพียงคำบอกเล่าเกี่ยวกับวัดว่า พื้นที่บริเวณที่ตั้งวัดมาจากเณรซึ่งมีสถานะเป็นนักบวช ผู้ปฏิบัติธรรม เป็นผู้นำชุมชนในการสร้างบ้านเรือนของชุมชนบ้านโคกสระน้อย และศาลปู่เณรพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่กลายมาเป็นวัดประจำชุมชน

        เรื่องเล่าเกี่ยวกับสถานที่ตั้งวัด ในอดีตมีเณรอยู่รูปหนึ่งอาศัยอยู่วัดหงส์ (ปัจจุบันคือ วัดหงส์ธรรมรักษ์จิตาราม) ได้แอบกินขนุนที่มีญาติโยมนำมาถวายหลวงพ่อจนหมดโดยไม่ขออนุญาต หลวงพ่อจึงได้ตำหนิและดุด่า เณรโกรธจึงได้หนีออกจากวัดและได้มาอาศัยที่แห่งหนึ่งซึ่งมีพื้นที่เป็นดอน หรือชาวบ้านเรียกว่า โคก ที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์ จึงจับจองทำเป็นสวนผลไม้ หนึ่งในผลไม้ที่เณรปลูก มีต้นขนุนรวมอยู่ด้วย ซึ่งปกติแล้วขนุนจะต้องปลูก 6 ปี จึงจะติดผล แต่ขนุนที่ปลูกกลับติดผลเร็วกว่าปกติ เมื่อขนุนออกผลและสุกงอมได้ที่ เณรจึงนำขนุนไปถวายหลวงพ่อ โดยกล่าวกับหลวงพ่อว่า ตนได้นำขนุนมาคืนหลวงพ่อแล้ว ต่อมาภายหลังได้มีชาวบ้านคนอื่น ๆ มาจับจองที่ดินทำกินเช่นกัน เมื่อมีผู้คนมาอาศัยรวมกันเป็นจำนวนมากสถานที่แห่งนี้จึงกลายเป็นหมู่บ้าน เรียกว่า "บ้านโคก" ซึ่งชาวบ้านที่นี่รู้จักเณรรูปนี้ดี เนื่องจากเป็นคนมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมักนำผลไม้ในสวนของตนไปแจกจ่ายชาวบ้าน เมื่อมีงานบุญก็จะนำผลไม้ไปถวายพระสงฆ์ที่วัด นอกจากนี้ยังมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อเพื่อไปจำหน่าย

        ต่อมาเริ่มมีเสียงร่ำลือว่า เณรมีเงินที่ได้จากการขายผลไม้มากมาย ว่ากันว่าประมาณ 1 บาตรพระ ทำให้มีโจรผู้ที่คิดจะมาปล้นเงินจำนวนดังกล่าว โดยการเข้าปล้นและขู่บังคับให้บอกที่ซ่อนเงิน แต่เณรไม่มีให้ จึงได้ทำร้ายจนเสียชีวิต จากนั้นจึงรื้อข้าวของเพื่อหาเงินตามคำร่ำลือ ก็ไม่พบแต่อย่างใด พบเพียงเงิน 1 บาท ที่เณรมีติดตัว เมื่อเป็นเช่นนั้น โจรอาจเกิดความเสียใจที่เข้าใจผิดและทำร้ายเณรจนเสียชีวิต จึงได้ทิ้งเงิน 1 บาท ดังกล่าวไว้ ไม่นำติดตัวไป จนกระทั่งมีชาวบ้านมาพบศพ สร้างความเศร้าสลดใจเป็นอย่างมาก ชาวบ้านต่างก็พากันสาปแช่งโจรใจบาปผู้นั้น และนำศพของเณรมาบำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจ เมื่อเสร็จจากงานศพชาวบ้านจึงได้สร้างศาลขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว ปัจจุบันสถานแห่งนั้นมีชื่อว่า ศาลปู่เณร ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์ ที่ชาวบ้านพากันเคารพนับถือ ต่อมาชาวบ้านเห็นว่าสถานแห่งนี้เคยเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของนักบวช จึงได้สร้างขึ้นเป็นวัด โดยนิมนต์พระสงฆ์มาจำพรรษา แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าเป็นพระรูปใด

การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ

1. พระครูพิพัฒน์ อิสรคุณ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสนใจ

ศาลปู่เณร เชื่อว่าเป็นสถานที่นำศพของเณรมาบำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจ ชาวบ้านพากันเคารพนับถือและเชื่อว่าเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์

ศาลาโรงธรรม หรือ โรงธรรม หรือ ศาลาหอแจก ศาลาทรงไทยอีสาน สร้างด้วยไม้ที่มีภาพจิตรกรรมไทยแนวประเพณี ที่เขียนบนเพดานผนังไม้ เขียนด้วยเทคนิคสีที่ได้จากธรรมชาติ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับภาพจินตนาการสัตว์หิมพานต์ พุทธประวัติ เขียนโดยช่างท้องถิ่น นามนายบุญมี ไม่ปรากฎนามสกุล ตระกูลหลวงพ่อฉัตร สร้างเมื่อปี ฉลู เบญศก ปี พ.ศ. 2456 ศาลาโรงธรรมหลังนี้อยู่ระหว่างอาคารพิพิธภัณฑ์และอุโบสถเก่า กรมศิลปากรได้ขึ้นประกาศขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ในปี พ.ศ. 2539

ใบเสมา เป็นใบเสมาแบบแท่งสี่เหลี่ยมสมัยลพบุรี ใบเสมาที่อยู่หน้าอุโบสถมีภาพแกะสลักเป็นรูปฤาษีนั่ง

อุโบสถเก่า สร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2332 หลังคาเป็นทรงเรือนไทย รอบพระอุโบสถมีใบเสมาทำจากศิลาแลงจารึกภาษาขอม อุโบสถหลังนี้มีความโดดเด่นเฉพาะตัวอยู่ที่กรอบประตูทางเข้าที่มีจิตรกรรมลวดลายด้วยสีธรรมชาติมีการใช้งานประติมากรรมนูนต่ำคล้ายเครื่องปั้นดินเผาหรือภาชนะเครื่องเคลือบรูปทรงกลมและรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทุกชิ้นจะมีการเจาะรูตรงส่วนกลางและกระจายออกโดยรอบดูคล้ายเกสรดอกบัว อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญทางพุทธศาสนา ฉาบด้วยปูนยึดติดกับตัวอาคารจนเกิดเป็นกรอบประตูที่มีความสวยงามตามแบบฉบับศิลปะพื้นบ้าน

อุทยานทางการศึกษา จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรท้องถิ่น ซึ่งมีมากกว่า 500 ชนิด

โครงการ 9 วัด 9 บุญ ค้ำจุนพระพุทธศาสนา อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

การเดินทาง เริ่มต้นจากลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ถนนสาย 304 สายนครราชสีมา-กบินทร์บุรี-ฉะเชิงเทรา ถึงสี่แยกลำพระเพลิง เลี้ยวซ้ายเส้นทางสาย 24 (ปักธงชัย-โชคชัย) และเลี้ยวขวาบ้านนกออก อำเภอปักธงชัย เข้าไปประมาณ 4 กิโลเมตร 

หัวเรื่อง

วัดในจังหวัดนครราชสีมา

หมวดหมู่

ศาสนสถาน

คำสำคัญ

วัด

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:บ้านโคกสระน้อย หมู่ที่ 3 ตำบลนกออก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา 30150
แผนที่:https://goo.gl/maps/6yhmfaEWdo5wibDv9

รายการอ้างอิง

  1. กระทรวงศึกษาธิการ. กรมการศาสนา. (2542). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 17. กรุงเทพฯ: กระทรวง.
  2. ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2561, ค้นจาก http://www.sac.or.th/databases/museumdatabase/review_inside.php?id=907
  3. สุภีมพศ ทองสกล. (2552). การศึกษาคติความเชื่อจากภาพจิตรกรรม ภายในศาลาโรงธรรม วัดโคกศรีสะเกษ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา. กรุงเทพฯ: คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  4. สถาบันราชภัฏนครราชสีมา. ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม. ของดีโคราช เล่มที่ 2 สาขาศิลปะและภาษา. นครราชสีมา: สถาบัน.
  5. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครราชสีมา. ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ. บัญชีรายชื่อวัดในจังหวัดนครราชสีมา (ปี 2560). สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2562 จาก http://sites.google.com/a/secondary33.go.th/sanakngan-phraphuthth-sasna-canghwad-nkhrrachsima/baychi-ray-chux-wad-ni-canghwad-nkhrrachsima-pi2560