งานฉลองวันแห่งชัยชนะท้าวสุรนารี


รายละเอียด

งานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี หรือ งานย่าโม

     จัดขึ้นเพื่อเป็นการสักการะเทิดทูนวีรกรรมท่านท้าวสุรนารี หรือ คุณหญิงโม (ย่าโม) วีรสตรีไทย และปลุกจิตสำนึกให้เยาวชนไทยรุ่นหลังตระหนักถึงวีรกรรมอันกล้าหาญเสียสละและดำรงไว้ซึ่งความรักชาติ ผู้นำชาวบ้านเข้าต่อสู้กับกองทัพเจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ที่ยกทัพมายึดเมืองนครราชสีมา จนเจ้าอนุวงศ์ถอนทัพออกจากเมือง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2369

      จัดขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากมีการบูรณะอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2510 ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม-3 เมษายน ของทุกปี ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และสนามหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา รวม 12 วัน 12 คืน

กิจกรรมในงาน

- พิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี กระทำโดยพราหมณ์จากราชสำนักราชวัง เรีมต้นที่การวางพวงมาลา และการรำบวงสรวงดวงวิญญาณท้าวสุรนารี ณ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โดยกลุ่มสตรีชาวโคราช จากนั้นจุดพลุเป็นสัญญาณเริ่มงานบริเวณประตูเมืองทั้ง 4 ด้าน คือ ประตูพลล้าน ประตูชุมพล ประตูพลแสน และประตูไชยณรงค์ ตามด้วยขบวนแห่ฟ้อนรำจากชุมชน และอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดนครราชสีมา

- การจัดนิทรรศการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 

- การแสดงและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน อาหารพื้นเมือง ของดีเมืองโคราช

- การแสดงประกอบ แสง สี เสียง กำเนิดคุณหญิงโม และประวัติศาสตร์ของเมืองโคราช

- การแสดงศิลปวัฒนธรรม ของดีเมืองโคราชย้อนยุค

- การแสดงมหรสพจากศิลปินที่มีชื่อเสียง

- การออกร้านของส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สถานศึกษา และองค์กรเอกชน

- กิจกรรมการประกวดต่าง ๆ เช่น ประกวดนางสาวนครราชสีมา ประกวดร้องเพลง ประกวดสุขภาพเด็ก ประกวดวาดภาพโดยเด็กและเยาวชน ประกวดผลผลิตทางการเกษตร การประกวดโต๊ะโคราช

การบวงสรวงท้าวสุรนารี เครื่องบวงสรวง ประกอบด้วย

     ผลไม้ 6 อย่าง พวงมาลัย 7 สี ดอกไม้ 16 ชุด ธูป 16 ดอก หมายถึง 16 ชั้นฟ้า 15 ชั้นดิน เพื่อให้คุณย่ารับรู้ แผ่นทอง 16 แผ่น และมีดดาบ

     โดยมีพราหมณ์นำประกอบพิธีท่องบทคาถาสักการะให้ว่าตามพร้อมกัน พร้อมทั้งยกพานผลไม้ พานดอกไม้ โดยเฉพาะได้ยกดาบซึ่งเป็นสัญลักษณ์อาวุธประจำกายคู่บารมีท้าวสุรนารีที่ถือดาบตลอดเวลาขึ้นถวาย พร้อมชักดาบออกจากฝักซึ่งมีความหมายจะได้ไม่มีอุปสรรคและทำให้มีชัยชนะด้วยคมดาบคุณย่าโม ก่อนชูปลายดาบขึ้นสู่ท้องฟ้าและเก็บเข้าฝักตามเดิม

การวางดอกไม้ โดยการคล้องพวงมาลัย และมาลัย 7 สี ปิดแผ่นทองรูปหล่อท้าวสุรนารีด้านล่าง โดยเริ่มปิดแผ่นแรกที่ หน้าผาก  ปาก ไหล่ และเท้า รวมทั้งแผ่นศิลาจารึกประวัติการกอบกู้บ้านเมือง และถวายดาบ เป็นเสร็จพิธี

หมายเหตุ

ในปี 2563 จัดเฉพาะพิธีรำบวงสรวงท้าวสุรนารี เนื่องจากการระบาดโรคไวรัส โควิด-19

หัวเรื่อง

เทศกาลงานประเพณีนครราชสีมา

หมวดหมู่

ศาสนสถาน

คำสำคัญ

งานย่าโม, เทศกาล, ประเพณี

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000

รายการอ้างอิง

  1. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2552). ทรัพยากรการท่องเที่ยวไทยชุดภาคอีสาน : นครราชสีมา. กรุงเทพฯ: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. ย้อนตำนานหญิงกล้าเมืองโคราช จัดยิ่งใหญ่งานฉลองชัยชนะท้าวสุรนารี. ค้นจาก http://www.dailynews.co.th/Content/regional/16255/