แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท


รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

        เป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคอีสาน ได้ค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณถึง 60 โครง พร้อมทั้งภาชนะดินเผาแบบต่าง ๆ และเครื่องประดับทั้งที่ทำจากเปลือกหอย และสำริดอีกเป็นจำนวนมาก กรมศิลปากรได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก ททท. ภายใต้โครงการอีสานเขียวพัฒนาแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งขึ้นเป็นแห่งที่ 2 ของภาคอีสาน หลังจากที่เปิดพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่บ้านเชียง จ. อุดรธานีมาก่อนหน้านี้

สิ่งที่น่าสนใจ

        พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งจากหลักฐานที่ค้นพบสันนิษฐานว่า เคยเป็นชุมชนอาศัยสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ มีหลักฐานของกลุ่มวัฒนธรรมแบบทวารวดีและแบบเขมรโบราณ อายุระหว่าง 1,500 - 3,000 ปี หลุมขุดค้นมีจำนวน 3 หลุม ดังนี้

หลุมขุดค้นที่ 1 มีโครงกระดูกฝังอยู่ในชั้นดินแต่ละสมัย แต่ละยุคมีลักษณะการฝังที่ต่างกันไป ยุค 3,000 ปี อยู่ในชั้นดินระดับล่างสุดลึก 5.5 เมตร โครงกระดูกจะหันหัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ยุค 2,500 ปี หันหัวไปทางทิศตะวันออก ยุค 2,000 ปี หันหัวไปทางทิศใต้ แต่คติในการฝังจะคล้ายกันคือจะนำเครื่องประดับ เช่น กำไลเปลือกหอย ลูกปัด แหวนสำริด กำไลสำริด เครื่องประดับศีรษะทำด้วยสำริดและภาชนะของผู้ตายฝังร่วมไปด้วยกับผู้ตาย ในช่วงสามระยะแรกนี้เป็นภาชนะดินเผาเคลือบน้ำดินสีแดง แบบลายเชือกทาบ ลักษณะหลักของภาชนะเป็นแบบคอแคบปากบาน แต่บางใบมีทรงสูงเหมือนคนโท บางชิ้นมีลักษณะเป็นทรงกลมสั้น ต่อมาในยุค 1,500 ปี นั้นลักษณะภาชนะจะเปลี่ยนเป็นแบบพิมายดำ คือ มีสีดำ ผิวขัดมัน เนื้อหยาบบาง

หลุมขุดค้นที่ 2 ในดินชั้นบนพบร่องรอยของศาสนสถานในพุทธศตวรรษที่ 13-16 เรียกกันว่า "กู่ธารปราสาท" และพบเศียรพระพุทธรูปในสมัยเดียวกัน ศิลปะทวารวดีแบบท้องถิ่น นอกจากนี้ยังพบรูปปั้นดินเผาผู้หญิงครึ่งตัวเอามือกุมท้องลักษณะคล้ายตั้งครรภ์ และชิ้นส่วนลายปูนปั้นประดับปราสาท

หลุมขุดค้นที่ 3 พบโครงกระดูกในชั้นดินที่ 5.5 เมตร เป็นผู้หญิงทั้งหมด เป็นที่น่าสังเกตว่ากระดูกทุกโครงในหลุมนี้ไม่มีศีรษะ และภาชนะนั้นถูกทุบให้แตกก่อนที่จะนำลงไปฝังด้วยกัน นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นโครงกระดูกของผู้หญิงที่ถูกประหารชีวิตและนำศีรษะไปแห่ประจาน และได้พบส่วนกะโหลกอยู่รวมกันในอีกที่หนึ่ง ซึ่งห่างจากจุดเดิมเพียง 500 เมตร ชาวบ้านปราสาทจะร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลในวันที่ 21 เมษายน ของทุกปี

กิจกรรม

- ชมแหล่งโบราณคดีขุดค้นโครงกระดูกมนุษย์อายุกว่า 3,000 ปี

- พิธีบายศรีสู่ขวัญ และเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้าน

- ชมหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น การทอเสื่อกก ทอผ้าไหม

- ชมผลิตเครื่องดนตรีไทยประเภทสาย ทั้งพิณ ซออู้ และซอด้วง 

การเดินทาง 

     จากตัวเมืองโคราช ใช้ทางหลวงหมายเลข 2 หรือ ถ.มิตรภาพ (โคราช - ขอนแก่น) ถึงหลัก กม. 44 จะมีทางแยกซ้ายมือเห็นป้ายบอกชัดเจน ปากทางเข้ามีศาลาที่พัก เลี้ยวซ้ายเข้าไปตามถนนลาดยางประมาณ 2 กม. ก็จะถึงหมู่บ้านปราสาทใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดี

 

หัวเรื่อง

สถานที่ท่องเที่ยว

หมวดหมู่

สถานที่ท่องเที่ยว

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:หมู่ที่ 7 บ้านปราสาทใต้ ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา 30420

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

รายการอ้างอิง

  1. จิตติมา ผลเสวก. (2545). นครราชสีมา. กรุงเทพฯ: สารคดี. แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท. สืบค้นวันที่ 20 มิถุนายน 2556, จาก http://www.wikalenda.com/แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท-092307.html
  2. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). เที่ยวสบาย--สไตล์ชุมชน. กรุงเทพฯ: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.
  3. แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท. สืบค้นวันที่ 24 กันยายน 2556, จาก http://www.youtube.com/watch?v=TUSFLnIyWqc