ข้าวแผะ


รายละเอียด

       "ข้าวแผะ" หรือ "เข่าแพะ" มีลักษณะคล้ายแกงเลียงแต่จะใส่ข้าวสุก เป็นอาหารชามเดียวที่มีคุณค่าสารอาหารทางโภชนาการสูง เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย รับประทานง่ายรสชาติอร่อยกลมกล่อม รสไม่จัด ผู้สูงอายุจะนิยมรับประทานเพราะมีสมุนไพรมาก รับประทานได้หลายโอกาส แต่คนรุ่นใหม่จะไม่ค่อยรู้จัก เข่าแพะมี 2 ตำรับ คือ แบบดั้งเดิม หุงข้าวกับกะทิ และใส่น้ำปลาร้าด้วย และแบบไม่ใส่กะทิ และน้ำปลาร้า หรือมีทั้งใส่และไม่ใส่พริกแกง

ส่วนผสม

1. ข้าวสาร (ใช้ข้าวสุก 100 กรัม)1/2ถ้วยตวง
2. เนื้อไก่หั่นชิ้นพอคำ (ใช้ เนื้อ หมู ปลาหรือ ปลาแห้ง แทนได้)100กรัม
3. น้ำกะทิ200กรัม
4. น้ำปลาร้า/ปลาเค็ม2ช้อนโต๊ะ
5. น้ำสะอาด600กรัม

เครื่องแกง

1. กระชาย10กรัม
2. กระเทียม10กลีบ
3. กะปิ3ช้อนชา
4. เกลือป่น1/2ช้อนชา
5. ข่าหั่น3แว่น
6. ตะไคร้หั่นฝอย1กรัม
7. น้ำตาลทราย1 1/2ช้อนชา
8. น้ำปลา300กรัม
9. พริกแห้ง (เพิ่มลดตามชอบ หรือใช้พริกสดก็ได้)3-5เม็ด
10. หอมแดงซอย3-5หอม

เครื่องเคียง

1. ข้าวโพดแกะเอาแต่เมล็ด100กรัม
2. แตงโมอ่อนหั่น50กรัม
3. น้ำเต้าหั่น50กรัม
4. บวบหั่น50กรัม
5. ใบตำลึง50กรัม
6. ใบแมงลัก50กรัม
7. ฟักทองแก่หั่น100กรัม
8. เห็ดฟาง50กรัม

วิธีทำ

1. ซาวข้าวสารให้สะอาด นำข้าวสารใส่หม้อ ใส่กะทิลงไป 2 ถ้วย พร้อมกับน้ำ 1 ถ้วย (ส่วนที่เหลือค่อย ๆ เติมลงไป) คนให้เข้ากัน ต้มข้าวด้วยไฟปานกลางจนเดือด

2. โขลกพริกแห้ง ตะไคร้ หอมแดง กระเทียม ข่า และเกลือ ให้ละเอียด พักไว้ในกระทะแยกอีกใบหนึ่ง ใส่กะทิลงไป 1/2 ถ้วย ผัดให้พอร้อน แล้วใส่พริกแกงเผ็ดลงไปผัดให้เข้ากันพอหอม (อย่าให้แตกมัน) ใส่เนื้อไก่ลงไปผัดพอสุก ใส่เนื้อไก่ผัดพริกแกงลงไปในหม้อข้าวที่เดือดแล้ว

3. ทยอยใส่ผักลงไปต้มในหม้อข้าว เริ่มจากผักที่สุกยาก ๆ ก่อน เช่น ฟักทอง แล้วตามด้วย ข้าวโพดอ่อน เห็ดฟาง บวบทยอยใส่ผักไปเรื่อย ๆ เท่าที่มี ใส่ผักจนหมด คนให้เข้ากัน ต้มจนผักสุก ระหว่างเติมผักให้ใส่กะทิและน้ำที่เหลือลงไปให้หมด

4. ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำปลาร้า เกลือป่น หรือปลาเค็ม ถ้าชอบ น้ำตาลทราย พอเดือดใส่ตำลึงข้าวและผัก คนให้เข้ากันเมื่อสุกดีแล้ว ปิดไฟ ใส่ใบแมงลักลงไป

เคล็ดลับในการปรุง

1. ตักเสิร์ฟร้อน ๆ เพราะเข่าแพะถ้าพักให้เย็นจะอืดไม่น่ารับประทาน

2. กุศโลบายของคนในท้องถิ่นที่จะให้เด็ก ๆ รับประทานผัก จึงเอามาต้มรวมกันเป็นอาหารจานเดียว ทั้งนี้ ข้าวต้มยังเป็นอาหารที่ย่อยได้ง่าย อิ่มท้อง และอร่อย

3. กะทินั้นเพิ่มความมันให้กับอาหาร เหมือนกับเวลากินข้าวหุงกะทิ ซึ่งให้รสชาติที่มันอร่อยจริง ๆ

เคล็ดลับในการเลือกส่วนผสม

พริกแกงนั้นจะใช้ประเภทพริกแกงเผ็ด

หัวเรื่อง

อาหารท้องถิ่น

รายการอ้างอิง

  1. วัฒนาภรณ์ โชครัตนชัย. (2554). อาหารจากไผ่ : พืชเศรษฐกิจยุคใหม่. นครราชสีมา: มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา.