ระหัดวิดน้ำลำตะคอง


รายละเอียด

ระหัดวิดน้ำ เครื่องมือวิดน้ำแบบพื้นบ้าน มีลักษณะเป็นวงล้อกลม ใช้กระบอกน้ำผูกติดเพื่อตักน้ำ และผันน้ำเข้าเรือกสวนไร่นา ลำตะคอง สายน้ำเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตและชุมชนเมืองนครราชสีมา มานานหลายชั่วอายุคน เป็นแม่น้ำสาขาแม่น้ำมูล มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาดงพญาเย็น ไหลผ่านหุบเขา ผ่านที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เกิดน้ำตกและแก่งต่าง ๆ เช่น น้ำตกกรองแก้ว น้ำตกเหวสุวัตร์ น้ำตกเหวประทุน น้ำตกเหวไทร ลงสู่อำเภอปากช่อง อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง ผ่านอำเภอสีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ ลำตะคอง มีความยาวประมาณ 175 กิโลเมตร

ระหัดวิดน้ำ แบ่งเป็น 2 แบบ

1. ระหัดวิดน้ำไม้แบบพื้นบ้านดั้งเดิม

2. ระหัดวิดน้ำแบบประยุกต์หรือระหัดเหล็ก

ระหัดวิดน้ำลำตะคอง...เป็นระหัดวิดน้ำไม้แบบพื้นบ้านดั้งเดิม “ระหัดวิดน้ำลำตะคอง” เป็นเทคโนโลยีการวิดน้ำแบบพื้นบ้าน มีลักษณะเป็นวงล้อกลม ใช้กระบอกน้ำผูกติดเพื่อตักน้ำ ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ในเขตนี้ได้ประดิษฐ์ขึ้นใช้มาช้านาน และเชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีพื้นบ้านที่มีการสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนจนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่าระหัดวิดน้ำลำตะคอง เป็นองค์ความรู้และเครื่องมือในการทดน้ำขึ้นจากลำน้ำที่มีระดับต่ำกว่าพื้นที่ทางการเกษตร นำน้ำจากลำตะคองขึ้นสู่ไร่นา ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกของชุมชนเกษตรกรรมสองฝั่งคลองของชาวบ้านที่มีที่นาติดกับลุ่มน้ำลำตะคอง

“ระหัด” มีลักษณะนามว่า “คัน” “ระหัด” เครื่องมือการเกษตรพื้นบ้านชิ้นนี้เป็นสิ่งที่ต้อง “หัด” ต้องทำ หรือ ซ่อมบำรุงทุกปีไม่มีเสร็จสิ้น “ตีระหัด” หมายถึง การซ่อมระหัดให้ใช้งานได้ โดยเฉพาะก่อนฤดูทำนา “ถมระหัด” หมายถึง การขนดินไปซ่อมฝายกั้นน้ำเพื่อเพิ่มแรงการหมุน “ลอระหัด” หมายถึง ฝายหรือทำนบกั้นลำน้ำซึ่งเป็นที่ตั้งระหัด “นาระหัด” หมายถึง พื้นที่นาที่ใช้น้ำจากระหัด “ระหัดมีกำ” เป็นไม้ที่ทำหน้าที่ยึดวงล้อ เปรียบได้กับซี่ เปรียบเปรยให้เห็นว่า ระหัดแต่ละตัวมี “กรรม” ระหัดวิดน้ำ จึงต้องหมุนวิดน้ำไปตามเวรตามกรรม “ระหัดหัก” หมายถึง ระหัดที่พัง หรือ อยู่ในสภาพใช้งานไม่ได้ กำลังรอคอยการซ่อมแซม หมายความว่าระหัดวิดน้ำคันนั้น “หัก” แล้ว

ส่วนประกอบและ อุปกรณ์ของระหัดวิดน้ำลำตะคอง

1. ฝายหรือลอระหัด เป็นทำนบ หรือ ฝาย ใช้วัสดุต่าง ๆ กั้นการไหลของน้ำ เพื่อให้น้ำไหลลงช่องที่ตั้งระหัดเพียงช่องเดียว ทำให้น้ำไหลแรงขึ้น ช่วยให้ระหัดวิดน้ำหมุน

2. เสาระหัด เสาระหัดมี 4 ต้น เป็นส่วนสำคัญ ใช้ไม้เนื้อแข็ง เป็นไม้แก่นขนาดใหญ่ และมีความสูงมากกว่าหรือเท่ากับระดับของระหัดวิดน้ำ เสา 2 ต้นแรกที่ตั้งของดุมมีขนาดใหญ่ ส่วนเสาอีก 2 ต้น นั้นอาจจะสั้นกว่าสองต้นแรก เพื่อยึดระหัดวิดน้ำและเป็นที่วางรางรับน้ำเพื่อให้กระบอกน้ำเทน้ำใส่ด้วย แขนนาง กระทำหลังปักเสาระหัด ใช้ไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่ใส่ 2 ข้างระหัด พาดระหว่างเสาระหัดทั้งสองด้าน แขนนางต้องรับน้ำหนักของดุมระหัดวิดน้ำทั้งคันได้ ใช้น็อตหรือตะปูขันไว้ให้แน่น แต่ต้องสามารถขยับเลื่อนขึ้นลงได้เมื่อต้องการ เช่น ระดับน้ำต่ำต้องขยับลง และต้องใส่แขนรองดุมที่แขนนางทั้งสองข้างเพื่อป้องกันการหลุดเลื่อนของดุมระหัด

3. เสาฝาย นิยมใช้ไม้เนื้อแข็งหรือปรับเปลี่ยนมาใช้ไม้ ตามสภาพท้องถิ่น เหลาปลายให้แหลม เพื่อปักดินใต้น้ำได้ง่าย การปักจะปักจากฝั่งด้านหนึ่งมาจนถึงช่วงที่เว้นช่องว่างบริเวณที่ตั้งระหัดวิดน้ำประมาณ 1–2 เมตร และปักต่อจนถึงฝั่งหนึ่งเพื่อกั้นน้ำตามระดับน้ำขึ้นในช่วงน้ำหลาก การตอกจะให้เสาฝายพ้นจากน้ำในระดับเดียวกัน แล้วใช้เพลารถยนต์ตอกลงไปให้แน่น

4. เสาเข็ม และไม้ค้ำยัน เป็นไม้เนื้อแข็ง ใช้ปักลงไปใต้น้ำด้านหลังเสาฝาย แล้วจึงใช้ไม้ค้ำยันยันฝายไว้กับเสาเข็ม เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยค้ำยันพยุงฝายในยามที่มีน้ำไหลแรง

5. ราวฝาย นำลำไม้ไผ่ตรงยาวทั้งลำมามัดขวางเข้ากับเสาฝาย ด้านหน้า มัดตั้งแต่เสาฝายส่วนที่อยู่ติดกับพื้นดินใต้น้ำจนมาถึงจุดสูงสุดของความยาวเสาฝาย

6. รางน้ำ เป็นส่วนที่รองรับน้ำจากกระบอกน้ำส่งต่อไปยังไร่นา อาจใช้ไม้เนื้อแข็งหรือต้นมะพร้าวหรือต้นตาล หรือไม้เนื้ออ่อนกลวง มาทำรางน้ำแทนไม้เนื้อแข็งที่หายาก

7. ไม้ดุม หรือไม้แกน เป็นแกนกลางที่ยึดโยงส่วนประกอบของระหัดวิดน้ำเข้าไว้ด้วยกัน ดุมเป็นส่วนที่ต้องรองรับน้ำหนักของส่วนประกอบระหัดวิดน้ำ ทำจากไม้เนื้อแข็ง

8. ไม้กำ หรือ กำระหัด เป็นไม้ที่เป็นซี่ล้อระหัดมีการจัดวางเป็นคู่ ๆ ยึดติดระหว่างดุมระหัดกับไม้กงและขื่อ ไม้กำของระหัดวิดน้ำลำตะคองจะใช้ 32 อัน 16 คู่ ความยาวขึ้นอยู่กับขนาดของระหัดวิดน้ำ

9. ไม้ขื่อ ส่วนประกอบที่ยึดไม้กำและไม้กงเข้าด้วยกัน ขื่อทำจากไม้ไผ่แก่บริเวณโคนต้น ตัดเป็นท่อน ขนาดความยาว 70-90 ซม. จำนวน 16 อัน จากนั้นผ่าซีกไม้ไผ่เป็นสองซีกแล้วใช้มีดถากเหลี่ยมไม้ด้านข้างของแต่ละซีกออกเพื่อป้องกันคมบาดมือเมื่อนำไปประกอบระหัด ไม้ขื่อจะเป็นที่รองรับไม้กง

10. ไม้กง หรือ กงระหัด คือ ไม้ไผ่ที่ผ่าซีกยาวเพื่อนำมาดัดให้เป็นวงล้อระหัด เป็นส่วนประกอบที่ต่อเติมส่วนประกอบอื่นเข้าด้วยกัน จนเป็นกงล้อที่สามารถหมุนได้

11. แตะ หรือ กระแตะ เปรียบเสมือนใบพัดที่พัดน้ำในขณะน้ำไหลทำให้ระหัดหมุนได้ ทำจากไม้ไผ่ที่เหลาเป็นซีก กว้าง 2 นิ้ว ยาวประมาณ 90 ซม. แต่ละมัดจะมีกระแตะประมาณ 24-26 อัน

12. กระบอกตักน้ำ นำไม้ไผ่มาตัดเป็นท่อน ๆ ละสองปล้อง แล้วมัดเชือกสองที่คือปลายกับกลางกระบอก การเหลาไม้จะต้องเหลือส่วนของผิวไม้ 2 ซม. เพื่อสอดเข้ากับกงระหัด เมื่อเหลาเสร็จแล้วใช้เสียมด้ามเล็ก ๆ ที่มีความคมแซะข้อปล้องไม้ไผ่ด้านในออกให้กลวง จำนวนกระบอกน้ำขึ้นอยู่กับความต้องการของช่างระหัด ถ้าใช้กระบอกน้ำมากเกินไปจะทำให้ระหัดวิดน้ำหนักและหมุนได้ช้า หลังจากเตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย ช่างระหัดก็จะลงมือ “ตีระหัด” หรือ “ประกอบระหัดวิดน้ำ”

ประโยชน์ของระหัดวิดน้ำภูมิปัญญาชาวบ้าน ประหยัดและเป็นพลังงานทางเลือก ที่ภาครัฐและเอกชนควรหันกลับไปพิจารณาและพัฒนาต่อยอดต่อไป แทนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และเป็นการสร้างความสามัคคีในชุมชน เพราะชาวบ้านต้องมาร่วมมือกันในการสร้างและซ่อมแซมระหัด ปัจจุบันระหัดวิดน้ำลำตะคอง ยังคงพบในเขตอำเภอปากช่อง สีคิ้ว สูงเนิน จักราช และอำเภอเมืองนครราชสีมา และมีการประยุกต์ปรับเปลี่ยนพัฒนาการเทคโนโลยีพื้นบ้านเพื่อใช้ประโยชน์จากเจ้าของ ไม่ว่าชื่อ หรือ เป็นโลโก้รีสอร์ท ประดับตกแต่งภูมิทัศน์สถานที่ท่องเที่ยว หรือ เก็บเป็นของเก่าโบราณ ไว้แสดงให้นักท่องเที่ยวเข้าชม หรือ ถูกนำไปใช้ด้วยเหตุผลทางธุรกิจของการเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่

หัวเรื่อง

ภูมิปัญญาชาวบ้านนครราชสีมา

หมวดหมู่

ปราชญ์ และภูมิปัญญาชาวบ้าน

คำสำคัญ

กังหันน้ำ, ระหัด

รายการอ้างอิง

  1. สุริยา สมุทคุปติ์. พัฒนา กิติอาษา. และจินตนา แกล้วกล้า. (2547). ระหัดวิดน้ำลำตะคองที่ห้องไทยศึกษานิทัศน์ : พร้อมบทสัมภาษณ์อาจารย์สุริยา สมุทคุปติ์ และอาจารย์ ดร. พัฒนา กิติอาษา. นครราชสีมา: สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.
  2. สุริยา สมุทคุปติ์. พัฒนา กิติอาษา. และจินตนา แกล้วกล้า. (2547). รายงานการวิจัยระหัดวิดน้ำลำตะคอง : สัญศาสตร์ของเทคโนโลยีพลังน้ำพื้นบ้าน. นครราชสีมา: สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.