ประวัติความเป็นมา
เดิมชื่อ ถนนเจริญพาณิชย์ (ต่อมาถูกเปลี่ยนเป็นชื่อ "จอมพล" ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม) เป็นถนนสายหลัก และเป็นย่านการค้าเก่าแก่ของเมืองโคราช ที่มีบริษัทห้างร้านรวมตัวอยู่บนถนนสายนี้อย่างหนาแน่น ทั้งยังเป็นที่พักอาศัยของตระกูลพ่อค้า-คหบดีผู้มั่งคั่ง ต้นกำเนิดของตระกูลที่มีชื่อเสียงของเมืองโคราช
โดยถนนเริ่มต้นจากหลังประตูชุมพล ผ่านไปจนถึงศาลหลักเมือง ไปสิ้นสุดที่ประตูพลล้าน และเนื่องจากเป็นย่านการค้า ในสมัยก่อนเป็นถนนแคบ ๆ มีการปลูกต้นหูกวางและต้นจัน ทั้งสองฟากถนน อาคารบ้านเรือนจะเป็นห้องแถวชั้นเดียว ทำด้วยไม้บ้าง เป็นตึกดินบ้าง ที่เป็นสองชั้นจะมีน้อยตลอดแนวตั้งแต่หลักเมืองมาจนถึงสี่แยกสวนหมาก เพื่อให้เกวียนได้ใช้จอดอาศัยร่มเงา
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนปี พ.ศ. 2450 สถาพถนนเป็นดินลูกรังเต็มไปด้วยฝุ่น ต้องจ้างชาวจีนคอยตักน้ำรดพื้นถนนตลอดวัน โดยใช้ปี๊บต่อท่อทำฝักบัว หาบน้ำจากในคูขึ้นมารดถนนเหมือนรดแปลงผัก รดเรื่อยไปตั้งแต่ประตูชุมพลไปจนถึงหลักเมือง กว่าจะถึงหลักเมือง ทางประตูชุมพลก็แห้ง ต้องกลับมาเริ่มต้นรดใหม่ มีไม้กระดานปูตามถนนเป็นบางช่วง
เมื่อครั้งเริ่มมีอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ถนนจอมพลจึงเป็นถนนที่สำคัญ ด้วยความที่เป็นถนนสายหลักของเมือง มีสถานที่สำคัญอย่างวัดกลาง (วัดพระนารายณ์) และวัดบึง ซึ่งมีสถานะเป็นพระอารามหลวง รวมถึงเป็นย่านที่มีผู้คนต่างเชื้อชาติต่างศาสนามาอาศัยอยู่รวมกัน ดังจะเห็นได้จากร้านค้าที่มีทั้งของคนไทย คนจีน และคนแขก เรียกได้ว่าเป็นย่านที่มีความหลากหลายอย่างแท้จริง
ชื่อบ้านนามเมือง นครราชสีมา
ที่อยู่: | อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000 |