ประวัติความเป็นมา
เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2498 โดยรัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับความช่วยเหลือจากองค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา (USOM) ในด้านงบประมาณการก่อสร้าง เทคนิควิชาการในการก่อสร้าง พร้อมทั้งได้จ้างผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันมาช่วยให้คำแนะนำ ส่วนการออกแบบและการก่อสร้างอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมทางหลวง นับเป็นทางหลวงสายแรกที่ก่อสร้างถูกต้องตามแบบมาตรฐานการก่อสร้างทางหลวงทุกขั้นตอน และเป็นทางหลวงสายแรกของประเทศไทยที่มีผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟอลต์คอนกรีต เพื่อแสดงถึงมิตรภาพของประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาในการก่อสร้างถนนร่วมกัน จึงขนานนามถนนสายนี้เป็น ถนนมิตรภาพ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (พระอริสริยศในขณะนััน) เสด็จพระราชดำเนินมาทรประกอบพิธีเปิดถนนมิตรภาพบริเวณกิโลเมตรที่ 33 อำเภอมวกเล็ก จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 และมีพิธีมอบถนนให้ประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500
การสร้างถนนจากสระบุรี-นครราชสีมา ระยะแรกเริ่มต้นจากจังหวัดสระบุรี ไปสิ้นสุดที่จังหวัดนครราชสีมา ระยะทาง 148 กิโลเมตร จะมีช่วงถนนผ่านเข้าสู่จังหวัดนครราชสีมา ผ่านอำเภอปากช่อง เป็นอำเภอแรกสุดของการเดินทางจากถนนมิตรภาพเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, สีคิ้ว, สูงเนิน, และอำเภอเมืองนครราชสีมา ผ่านตัวเมืองนครราชสีมา จากนั้นเส้นทางออกจากเมืองขึ้นไปทางทิศเหนือ ผ่านอำเภอเฉลิมพระเกียรติ, โนนสูง, คง, โนนแดง, สีดา และอำเภอบัวลาย ก่อนเข้าสู่จังหวัดขอนแก่น ต่อมาได้สร้างต่อไปยังจังหวัดหนองคาย รวมเป็นระยะทาง 509 กิโลเมตร ถนนสายนี้เริ่มเปิดใช้เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2508 นับว่าถนนมิตรภาพเป็นถนนสายหลักที่สามารถเดินทางไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามสำนวนที่ว่า เปิดประตูสู่อีสาน
ชื่อบ้านนามเมือง นครราชสีมา