ประวัติความเป็นมา
เป็นศาสนสถานในคติศาสนาฮินดู อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 ตรงกับศิลปะเขมรโบราณสมัยบาปวน ตอนปลาย-นครวัดตอนต้น ก่อสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง แผนผังประกอบด้วยกลุ่มปราสาท 3 หลัง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน เรียงตามแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ มีคูน้ำรูปตัวยูล้อมรอบ เว้นทางเดินเข้าสู่โบราณสถานทางด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ด้านทิศตะวันออกมีซุ้มหน้าต่างเปิดทั้ง 2 ข้าง ส่วนบนชำรุดแต่แสดงถึงการเข้ากรอบประตูด้วยหินทรายทรวดทรงที่เหลือ แสดงลักษณะเหมือนปราสาทหินพิมาย มีกำแพงแก้วล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทางเข้าด้านหน้าไม่มีซุ้มประตูหรือโฆปุระ หินที่ก่อกำแพงแก้วน่าจะเป็นหินที่พังลงมา
ในราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 สมัยอยุธยา-ล้านช้าง มีการก่อสร้างอาคารอิฐเพิ่ม 1หลัง ทางด้านทิศตะวันออกชิดติดกับส่วนฐานของกลุ่มปราสาท เป็นวิหารหรือหอพระ แผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผนังและพื้นก่อด้วยอิฐ เสาและโครงสร้างเป็นไม้มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอนที่ 34 ลงวันที่ 27 กันยายน 2479 และประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 100 ตอนที่ 36 ลงวันที่ 15 กันยายน 2526 โดยมีพื้นที่โบราณสถานท 6 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา
ปราสาทหิน
โบราณสถาน
ปราสาทหิน, ปรางค์, กู่, สถานที่ท่องเที่ยว
ที่อยู่: | บ้านปรางค์ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านปรางค์ อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา 30260 |