มะขามเทศเพชรโนนไทย


รายละเอียด

มะขามเทศเพชรโนนไทย (Pet Non Thai Manila Tamarind และ/หรือ Ma Kam Thet Pet Non Thai)

      หมายถึง มะขามเทศพันธุ์ฝักใหญ่ ทรงผล (ฝัก) โค้งเป็นวงกลม หรือ โค้งเป็นวงซ้อนกันคล้ายสปริง เมื่อแก่มีลักษณะฝักนูนอวบใหญ่ มีรอยหยักเล็กน้อยตามตำแหน่งที่มีเมล็ด ผิวเปลือกมีสีเขียวปนแดง เนื้อกรอบ สีขาวขุ่นปนชมพู หรือสีขาวขุ่นปนแดง รสชาติหวาน มัน ปลูกในพื้นที่อำเภอโนนไทย ของจังหวัดนครราชสีมา

ลักษณะของสินค้า

1. พันธุ์มะขามเทศ : พันธุ์ฝักใหญ่

2. ลักษณะทางกายภาพ

- ฝัก ทรงผล (ฝัก) โค้งเป็นวงกลม หรือโค้งเป็นวงซ้อนกันคล้ายสปริง ฝักนูนอวบใหญ่ มีรอยหยักเล็กน้อยตามตำแหน่งที่มีเมล็ด

- ผิวเปลือก สีเขียวปนแดง

- เนื้อ เนื้อกรอบ สีขาวขุ่นปนชมพู หรือสีขาวขุ่นปนแดง

- รสชาติ หวาน มัน

3. ลักษณะทางเคมี

- มีค่าความหวานอยู่ในช่วง 8-10 องศาปริกซ์

การขยายพันธุ์: การเปลี่ยนยอด การทาบกิ่ง การตอน แต่ที่นิยม ได้แก่ การตอน แต่ต้นที่ได้จากการปลูกด้วยวิธีเพาะเมล็ดจะทนแล้งได้ดีมาก

ลักษณะเด่น: ฝักใหญ่ หวาน กรอบ เนื้อแน่น รสชาติดี เป็นพืชที่ดูแลง่าย ใช้น้ำน้อย ทนต่อสภาพดินเค็ม และความแห้งแล้งเป็นอย่างดี

การปลูก: สามารถปลูกได้ทั้งแบบยกร่อง และพื้นที่ราบแบบยกร่อง

- พื้นที่ราบแบบยกร่องจะใช้ระยะปลูก 8-10x8-10 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 16-25 ต้น

- พื้นที่ราบใช้ระยะปลูก 10-12x10-12 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 10-16 ต้น

การเตรียมดิน: ขนาดหลุมปลูก 50x50 เซนติเมตร

การดูแลรักษา: 

การให้น้ำ: ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอทั้งในมะขามเทศต้นเล็ก และต้นโต สำหรับมะขามเทศต้นโต ควรงดการให้น้ำในช่วงก่อนออกดอกเช่นเดียวกับไม้ผลชนิดอื่น ๆ เพื่อให้มะขามเทศได้พักตัว และสะสมอาหารเตรียมความพร้อมที่จะออกดอกและเมื่อมะขามเทศติดดอกออกฝักแล้ว จึงเริ่มให้น้ำตามปกติแต่ควรระวังในช่วงที่ฝักเริ่มแก่เพราะถ้าให้น้ำในช่วงนี้มากเกินไปจะทำให้คุณภาพฝักไม่ดีฝักแตกเร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้คุณภาพเนื้อไม่แน่นและรสชาติไม่ดี

การตัดแต่งกิ่ง: ในมะขามเทศจะทำการตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมทรงพุ่ม ให้มีลักษณะที่ง่ายต่อการจัดการ โดยจะควบคุมความสูงของต้นไว้ที่ความสูงไม่เกิน 3 เมตร นอกจากนี้การตัดแต่งกิ่งยังมีวัตถุประสงค์อื่น ๆ อีก ดังนี้

1. เพื่อการปะทะจากแรงลม หากปล่อยให้ทรงพุ่มสูงเกินไป จะเกิดการโน้มตามแรงลมและอาจทำให้พุ่มฉีก-หักได้

2. เพื่อง่ายต่อการจัดการศัตรูพืช การตัดแต่งกิ่งควบคุมทรงทรงพุ่มทำให้ง่ายต่อการจัดการเรื่องโรคและแมลง เนื่องจากต้นที่สูงจะกลายเป็นที่อยู่อาศัยของแมลง เพราะจัดการได้ยาก

3. เพื่อการจัดการแสง ในการตัดแต่งกิ่ง ที่เป็นกิ่งกระโดงหรือกิ่งที่ไม่ให้ผลผลิต ตลอดจนกิ่งที่แห้งตาย ฉีก-หัก ออก ทำให้ทรงพุ่มโล่ง แสงกระจายได้ทั่วถึง ทำให้ลดการสะสมของโรคแมลง ตลอดจนเป็นการเพิ่มคุณภาพในการผลิตอาหารของพืช

4. เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต

ศัตรูพืช: โรค-แมลง รบกวนค่อนข้างน้อย

การให้ปุ๋ย: เน้นการให้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพแทนการใช้เคมี จึงทำให้ประหยัดต้นทุนในการผลิต

พื้นที่ปลูก: ตำบลถนนโพธิ์ ตำบลมะค่า และตำบลโนนไทย

การออกดอก: ช่วงเดือนธันวาคม

ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วง 4 เดือน คือ ตั้งแต่ ธันวาคม-มีนาคม ประมาณ 10 ตัน/วัน

- จำหน่ายให้พ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อ ร้อยละ 80

- ส่งออก ร้อยละ 15

- จำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรง ร้อยละ 5

เกษตรกรผู้ปลูกมะขามเทศแบบแปลงใหญ่ มีสมาชิก 120 ราย ในจำนวนสมาชิกทั้งหมดมี 90 ราย ที่ผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ตามระบบการจัดการคุณภาพ หลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) ของกรมวิชาการเกษตร

ได้รับรางวัลแปลงใหญ่ดีเด่นระดับจังหวัดปี 2562

หัวเรื่อง

พืชเศรษฐกิจ

หมวดหมู่

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

คำสำคัญ

เกษตรกรรม, พืชเศรษฐกิจ, มะขามเทศ, ผลไม้, พืชทนเค็ม, เกษตรในพื้นที่แห้งแล้ง, สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์, เครื่องหมายแสดงแหล่งกำเนิด

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา 30220

รายการอ้างอิง

  1. กรมทรัพย์สินทางปัญญา. (2563). ข้อมูลสินค้าและผู้ประกอบการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. กรุงเทพฯ: กรม.
  2. มะขามเทศ พืชทนแล้ง ปลูกง่าย รายได้งาม. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2563, จาก https://www.rakbankerd.com/agriculture/page.php?id=6122&s=tblplant 
  3.