จังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีการผลิตมันสำปะหลังแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งเป็นพืชโภชนาการ และพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย
ประวัติความเป็นมา
มันสำปะหลังเป็นพืชหัวชนิดหนึ่งมีชื่อเรียกกันทั่วไปในภาษาอังกฤษว่า แคสซาวา (Cassava) หรือ ทาปิโอก้า (Tapioca) ประเทศแถบแอฟริกา เรียกชื่อ ภาษาฝรั่งเศส ว่า แมนิออค (Manioc) มีแหล่งกำเนิดแถบที่ลุ่มเขตร้อน (Lowland tropics) มีหลักฐานแสดงว่าปลูกกันในโคลัมเบีย เวเนซูเอลา เปรู เม็กซิโก กัวเตมาลา ฮอนดูรัส และบราซิล ซึ่งมีการปลูกมันสำปะหลังมา 3,000-7,000 ปีแล้ว ต่อมาได้ขยายไปสู่แหล่งอื่น ๆ ของโลก โดยชาวโปรตุเกส และสเปน นำมันสำปะหลังจากเม็กซิโก มายังฟิลิปปินส์ ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 17 และชาวฮอลแลนด์ นำไปยังอินโดนีเซีย ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยมี
ชื่อวิทยาศาสตร์: Manihot esculenta (L.) Crantz
วงศ์: Euphorbiaceae
ชื่อสามัญ: Cassava Root , Tapioca
ชื่ออื่น: ต้าวน้อย, ต้าวบ้าน (ภาคเหนือ), มันต้น มันไม้ (ภาคใต้), มันสำโรง สำปะหลัง (ภาคกลาง), มันหิ่ว (พังงา)
มันสำปะหลังในประเทศไทย
การนำมันสำปะหลังเข้ามาปลูกในประเทศไทยเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน คาดว่ามีการนำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย ประมาณปี พ.ศ. 2329-2383 ภาษามาเลเซีย และอินโดนีเซีย เรียกว่า Ubikayu แปลว่า พืชที่มีรากขยายใหญ่ และคล้ายกับภาษาชวาตะวันตกว่า “สัมเปอ (Sampeu)” ในประเทศไทยเดิมเรียกว่า มันสำโรง มันไม้ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียก มันต้นเตี้ย ทางภาคใต้ เรียก มันเทศ (เรียกมันเทศว่ามันหลา) คำว่า สำปะหลัง ที่นิยมเรียกในปัจจุบัน อาจมาจากคำว่า “สัมเปอ (Sampeu)” ของชวาตะวันตก ซึ่งมีความหมายเหมือนคำ “ยุนิคายู” ในภาษามาเลย์ ซึ่งแปลว่า พืชที่มีรากขยายใหญ่
ประเทศไทยปลูกมันสำปะหลังเป็นการค้าครั้งแรกในภาคใต้ โดยปลูกระหว่างแถวต้นยางพาราขนาดเล็ก แล้วส่งผลิตผลที่ได้ไปจำหน่ายยังโรงงานทำแป้ง และโรงงานทำสาคู โดยเฉพาะที่จังหวัดสงขลามีอุตสาหกรรมทำแป้ง และสาคู จำหน่ายไปยังปีนัง สิงคโปร์ แต่การปลูกเป็นการค้าในภาคใต้นั้นค่อย ๆ หมดไป เพราะการปลูกในระหว่างแถวยางพารา และพืชยืนต้นอื่น ๆ ปลูกได้ 4-5 ปี ต้นยางพาราก็โตคลุมพื้นที่หมด ไม่สามารถปลูกมันสำปะหลังได้อีกต่อไป ในขณะที่สภาพภูมิประเทศริมฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทย คือ จังหวัดชลบุรี ระยอง และจังหวัดใกล้เคียงมีลักษณะเป็นเนินเขาลาดเอียงดินเป็นดินทราย ไม่มีแม่น้ำใหญ่ที่จะทำการชลประทานได้ พื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะแก่การทำนา และพืชไร่ชนิดอื่น ชาวบ้านจึงเริ่มปลูกมันสำปะหลังกัน ปรากฏว่าการปลูกมันสำปะหลังได้รับผลดี จนกลายเป็นอาชีพที่แพร่หลายอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันการปลูกเป็นการค้าที่แพร่หลาย เริ่มตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะในระยะนั้น ประเทศญี่ปุ่นขาดแคลนวัตถุดิบ และได้เริ่มสั่งซื้อแป้งมันสำปะหลังจากประเทศไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2491 ในเวลาต่อมาประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศเพื่อนบ้านของไทย ก็ได้สั่งแป้งมันสำปะหลังจากไทย จึงทำให้มีโรงงานแป้งมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นและทันสมัยขึ้น เมื่อตลาดมีความต้องการผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในการเลี้ยงสัตว์ และอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น ทำให้พื้นที่ในภาคตะวันออกผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงมีการขยายพื้นที่ปลูกไปยังจังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจนในปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในประเทศไทย
พันธุ์มันสำปะหลัง
- พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 (MKUC 28-77-3)
- พันธุ์ระยอง 5 (CMR25-105-112)
การปลูกมันสำปะหลัง
มันสำปะหลัง (Manihot esculenta) เป็นพืชในวงศ์ Euphorbiaceal ที่ทนแล้ง ชอบขึ้นในดินร่วนปนทราย และเติบโตในบรรยากาศที่มีอุณหภูมิตั้งแต่ 10-35 องศาเซลเซียส และถ้าจะให้ดีอุณหภูมิก็ต้องสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส แต่ในเขตหนาว หรืออบอุ่นต้นจะไม่ขึ้น ถึงชาวไร่จะสามารถปลูกมันสำปะหลังได้ตลอดปี แต่ส่วนใหญ่นิยมปลูกในต้นฤดูฝน และส่วนน้อยปลูกในปลายฤดูฝน สำหรับพื้นที่ปลูกควรเป็นที่ดอน เพราะน้ำจะไม่ได้ท่วมขัง และดินที่ปลูกควรเป็นดินร่วนปนทราย แต่ดินชนิดอื่นก็สามารถขึ้นได้ เพราะมีความสามารถในการปรับตัว และทนแล้งได้ดี
การเตรียมดิน
หากดินที่ทำการเพาะปลูกมันติดต่อกันหลายปี ควรปรับปรุงดิน เพื่อรักษาระดับผลผลิตในระยะยาว ด้วยการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักเปลือกมันชนิดเก่าค้างปี (จากโรงแป้งทั่วไป) ที่หาได้ในท้องถิ่น หรือ ปลูกพืชตระกูลถั่วต่าง ๆ หมุนเวียนบำรุงดิน ในกรณีที่พื้นที่ประเภทหญ้าคา ควรใช้ยาราวด์อัพหรือเครือเถาต่าง ๆ ควรใช้ยาสตาร์เรน ฉีดพ่นยาจำกัดเสียก่อนการไถ จากนั้นไถครั้งแรกโดยไถกลบวัชพืชก่อนปลูกด้วยผาน 3 (อย่าเผาทำลายวัชพืช) ให้ลึกประมาณ 20-30 ซม. แล้วทิ้งระยะไว้ประมาณ 20-30 วัน เพื่อหมักวัชพืชเป็นปุ๋ยในดินต่อไป ไถพรวนด้วยผาน 7 อีก 1-2 ครั้ง ตามความเหมาะสม และรีบปลูกโดยเร็ว ในขณะที่ดินยังมีความชื้นอยู่
การเตรียมท่อนพันธุ์
ใช้ท่อนพันธุ์ที่สด อายุประมาณ 10-12 เดือน ตัดทิ้งไว้ไม่เกินประมาณ 15 วัน โดยตัดให้มีความยาวประมาณ 20 ซม. มีตาไม่น้อยกว่า 5 ตา เพื่อป้องกันเชื้อราและแมลง ควรจุ่มท่อนพันธุ์ในยาแคปแทน 1.6 ขีด (160 กรัม) ผสมร่วมกับมาลาไธออน 20 ซีซี ในน้ำ 20 ลิตร ประมาณ 5 นาที ก่อนปลูก
การปลูก
ปลูกเป็นแถวแนวตรง เพื่อสะดวกในการบำรุงรักษาและกำจัดวัชพืช โดยใช้ระยะระหว่างแถว 1.20 เมตร ระยะระหว่างต้น 80 ซม. และปักท่อนพันธุ์ให้ตั้งตรงลึกในดินประมาณ 10 ซม.
การฉีดยาคุมเมล็ดวัชพืช
สำหรับการปลูกในฤดูฝนสภาพดินชื้น ควรฉีดยาคุมวัชพืชด้วยยาไดยูรอน (คาแม็กซ์) หลังจากการปลูกทันที ไม่ควรเกิน 3 วัน หรือก่อนต้นมันงอก หากฉีดหลังต้นมันงอก อาจทำให้ต้นมันเสียหายได้ ใช้ยาในอัตรา 6 ขีด (600 กรัม) ผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นได้ประมาณ 1 ไร่ครึ่ง
การกำจัดวัชพืชและการใส่ปุ๋ย
การกำจัดวัชพืช ครั้งที่ 1 ประมาณ 30-45 วัน หลังการปลูก โดยใช้รถไถเล็กเดินตาม หรือ จานพรวนกำจัดวัชพืช ติดท้ายรถแทรกเตอร์ พร้อมทั้งใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 25-50 กก./ไร่ ห่างจากต้นมัน 1 คืบ (20 ซม.) จากนั้นใช้จอบกำจัดวัชพืชส่วนที่เหลือ พร้อมกับกลบปุ๋ยไปด้วย หรือใส่ปุ๋ยโดยการขุดหลุม ห่างจากโคนต้น 1 คืบ แล้วกลบดินตามก็ได้ ข้อสำคัญควรใส่ปุ๋ยขณะที่ดินมีความชื้นอยู่ กำจัดวัชพืช ครั้งที่ 2 ประมาณ 60-70 วัน หลังการปลูก โดยปฏิบัติเช่นเดียวกันกับครั้งแรก กำจัดวัชพืช ครั้งที่ 3 ตามความจำเป็น โดยใช้จอบถาก หรือฉีดพ่นด้วยยากรัมม๊อกโซน (ควรใช้ฝากครอบหัวฉีด เพื่อป้องกันไม่ให้ยาโดนตาและลำต้นมัน)
ศัตรูมันสำปะหลังที่สำคัญ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. ประเภทปากดูด ทำความเสียหายโดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่าง ๆ ของพืช ได้แก่ ไรแดง เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว และเพลี้ยหอยขาว ศัตรูพืชดังกล่าวมี ความสำคัญอย่างมากในช่วงพืชยังเล็ก อากาศแห้งแล้งเป็นเวลานาน ซึ่งมีผลกระทบต่อความงอก การเจริญเติบโต และการสร้างหัวของมันสำปะหลัง
2. ประเภทปากกัด ทำความเสียหายโดยกัดกินส่วนต่าง ๆ ของพืช ได้แก่ ปลวก แมลงนูนหลวง และด้วงหนวดยาว ซึ่งทำลายท่อนพันธุ์ ราก ลำต้น และหัว มีผลกระทบต่อความงอกของท่อนพันธุ์ การเจริญเติบโต การสร้างหัวและหัวถูกทำลาย
แนวทางการป้องกันกำจัดศัตรูพืช
1. โดยวิธีเขตกรรมหรือวิธีกล
1.1 การไถพรวนพื้นที่ปลูกหลายครั้ง เพื่อตากดิน หรือเพื่อให้หนอน ดักแด้ของศัตรูพืชในดินเป็นอาหารของนกและสุนัข
1.2 การเก็บศัตรูพืชด้วยมือ ได้แก่ เก็บตัวเต็มวัยทำลาย หรือทำเป็นอาหาร การเก็บส่วนของพืชที่มีศัตรูพืชนำมาทำลาย เพื่อลดปริมาณศัตรูพืชไม่ให้แพร่กระจาย
2. ศัตรูธรรมชาติ มีหลายชนิดที่ควบคุมปริมาณของศัตรูพืชให้อยู่ในระดับสมดุลตามธรรมชาติ ในกรณีที่ไม่มีการระบาดของศัตรูพืช
3. การป้องกันกำจัดโดยสารเคมี ควรใช้เฉพาะกรณีที่เกิดการระบาดของศัตรูพืชอย่างรวดเร็ว รุนแรง และมีโอกาสทำความเสียหายกับพืชได้ เช่น การเจริญเติบโต หรือการสร้างหัวของพืช การใช้สารเคมีควรใช้เฉพาะบริเวณที่ศัตรูพืชทำลายเท่านั้น
4. การกักพืช ปัจจุบันศัตรูมันสำปะหลังยังไม่มีมากชนิด และไม่อยู่ในระดับอันตราย นอกจากนี้พืชชนิดนี้ยังสามารถ ทนแล้ง ปรับสภาพและชดเชยผลผลิตทดแทนต้นใกล้เคียงได้ ดังนั้นควรคำนึงถึงการนำเข้ามันสำปะหลังจากต่างประเทศ ซึ่งมีการผลิตมันสำปะหลังทั่วโลกปัญหาด้านศัตรูพืชจึงมีความสำคัญมาก
การเก็บเกี่ยว
ภูมิปัญญาชาวบ้าน
พืชไร่
พืชเศรษฐกิจ
พืชไร่, พืชเศรษฐกิจ, นครราชสีมา