เดือนสิบสองบุญกฐิน หรือ ประเพณีบุญกฐิน


รายละเอียด

เริ่มตั้งแต่วันออกพรรษานับไปหนึ่งเดือน วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 เดือน 12

ประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนิกชน เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา และสืบทอดประเพณีบุญกฐิน

วัตถุประสงค์ เพื่อให้พระภิกษุได้เปลี่ยนจีวรผืนเก่า หรือ งานบุญถวายผ้าไตรจีวรแด่พระสงฆ์

กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือ กรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณการเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึง แล้วจึงเย็บ การทำจีวรในสมัยโบราณ เช่น ผ้ากฐิน หรือ จีวร ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริก ในตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุ เถระต่างมาช่วยกัน

ประวัติประเพณีทอดกฐิน มีเรื่องเล่าว่าในครั้งพุทธกาล พระภิกษุชาวปาไถยรัฐ (ปาวา) ผู้ทรงธุดงค์ จำนวน 30 รูป เดินทางไกลไปไม่ทันเข้าพรรษา เหลือทางอีกหกโยชน์จะถึงนครสาวัตถี จึงตกลงพักจำพรรษาที่เมืองสาเกตตลอดไตรมาส เมื่อออกพรรษาจึงเดินทางไปเฝ้าพระบรมศาสดา ณ เชตวันมหาวิหารนครสาวัตถี ภิกษุเหล่านั้นมีจีวรเก่า เปื้อนโคลน และเปียกชุ่มด้วยน้ำฝน ได้รับความลำบากตรากตรำมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงถือเป็นมูลเหตุ ทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุที่จำพรรษาครบ 3 เดือนกรานกฐินได้ และให้ได้รับอานิสงส์  5 ประการของภิกษุผู้รับกฐิน คือ

1.  เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา

2.  เที่ยวไปไหนไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ (ผ้า 3 ผืน คือสบง จีวร สังฆาฏิ)

3.  ฉันคณะโภชน์ได้ (ฉันเป็นหมู่ได้ คือภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป เจ้าภาพสามารถ บอกชื่อ อาหาร คือโภชนะ ๕ ได้แก่ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ)

4.  เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา (ปกติเก็บไว้ได้ไม่เกิน 10 วัน)

5.  จีวรลาภอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอ (ลาภสักการะที่สมควรแก่พระภิกษุ เช่น ไตรจีวร ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว เครื่องใช้ต่าง ๆ เจ้าภาพถวายแล้ว พระภิกษุเก็บไว้ได้เอง โดยไม่เป็นของสงฆ์) 

ผ้ากฐิน โดยความหมายก็คือผ้าสำเร็จรูปโดยอาศัยไม้สะดึง นิยมเรียกกันจนปัจจุบันนี้

กำหนดทอดกฐิน

       การทอดกฐินเป็นกาลทาน ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ จะทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ก็ไม่เป็นการทอดกฐิน

       ข้อยกเว้น ถ้าทายกผู้จะทอดกฐินนั้น มีกิจจำเป็น เช่น จะต้องไปในทัพ ไม่สามารถจะอยู่ทอดกฐินตามกำหนดนั้นได้ จะทอดกฐินก่อนกำหนดดังกล่าวแล้วพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับไว้ก่อนได้

การจองกฐิน

       การขอพระราชทานผ้าพระกฐินพระอารามหลวง ให้แจ้งกรมการศาสนา เพื่อขึ้นบัญชีไว้กราบบังคมทูลและแจ้งให้วัดทราบ ในทางปฏิบัติผู้ขอพระราชทานจะไปติดต่อกับทางวัดในรายละเอียดต่าง ๆ จนก่อนถึงวันกำหนดวันทอด จึงมารับผ้าพระกฐิน และเครื่องกฐินพระราชทานจากกรมศาสนา

       วัดราษฎร์ นิยมทำเป็นหนังสือจองกฐินไปติดต่อประกาศไว้ยังวัดที่จะทอดถวาย ให้ทราบวันเวลาที่จะไปทอด หรือจะไปนมัสการเจ้าอาวาสให้ทราบไว้ก็ได้

ประเภทวัดที่จะไปทอดกฐิน คือ

      พระอารามหลวง ผ้าพระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เอง หรือโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ไปพระราชทาน เครื่องกฐินทานนี้จัดด้วยพระราชทรัพย์ของพระองค์เอง เรียกว่า กฐินหลวง บางทีก็เสด็จไปพระราชทานยังวัดราษฎร์ด้วย นิยมเรียกว่า กฐินต้น ผ้ากฐินทานนอกจากที่ได้รับกฐินของหลวงโดยตรงแล้ว พระอารามหลวงอื่น ๆ จะได้รับ กฐินพระราชทาน ซึ่งโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้ากฐินทาน และเครื่องกฐินแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ส่วนราชการ หรือเอกชนให้ไปทอด โดยรัฐบาล กรมศาสนา จัดผ้าพระกฐินทาน และเครื่องกฐินถวาย ผู้ได้รับพระราชทานอาจจะถวายจตุปัจจัย หรือเงินทำบุญที่วัดนั้นโดยเสด็จในกฐินพระราชทานได้

      วัดราษฎร์ คณะบุคคลจะไปทอดโดยการจองล่วงหน้าไว้ก่อนตั้งแต่ในพรรษา ก่อนจะเข้าเทศกาลกฐินถ้าวัดใดไม่มีผู้จอง เมื่อใกล้เทศกาลกฐิน ประชาชนทายกทายิกาของวัดนั้น ก็จะรวบรวมกันจัดการทอดกฐิน ณ วัดนั้นในเทศกาลกฐิน

ประเภทของกฐิน แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

      กฐินหลวง คือ กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงวางผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง

      กฐินราษฎร์ คือ กฐินที่ราษฎรหรือประชาชนผู้มีจิตศรัทธานำผ้ากฐินไปทอด ณ วัดต่าง ๆ ที่มิใช่วัดหลวง

การทอดกฐิน ถือว่า เป็นทานพิเศษ คือ การนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำ 5 รูป แล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย จากคณะสงฆ์เป็นเอกฉันท์ให้เป็นผู้รับกฐิน กำหนดเวลาปีหนึ่งทอดถวายได้เพียงครั้งเดียว กฐินมี 3 ลักษณะ คือ

     จุลกฐิน หรือ กฐินแล่น คือ การทำจีวร พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบท ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้เสร็จภายในกำหนดหนึ่งวัน ทำฝ้าย ปั่น กรอ ตัด เย็บ ย้อม ทำให้เป็นขันธ์ได้ขนาดตามพระวินัย แล้วทอดถวายให้เสร็จภายในวันนั้น

      มหากฐิน คือ อาศัยปัจจัยไทยทานบริวารเครื่องกฐินจำนวนมากไม่รีบด่วน เพื่อจะได้มีส่วนหนึ่งเป็นทุนบำรุงวัด คือทำนวกรรมบ้าง ซ่อมแซมบูรณะของเก่าบ้าง ปัจจุบันนิยมเรียกว่า กฐินสามัคคี

       กฐินตกค้าง คือ วัดซึ่งพระสงฆ์จำพรรษาและปวารณาแล้ว ไม่มีใครจองกฐิน

การนำกฐินไปทอด กระทำได้ทั้ง 2 รูปแบบ คือ

นำผ้ากฐินทานกับเครื่องบริวารที่จะถวายไปตั้งไว้ ณ วัดที่จะทอดก่อน พอถึงวันกำหนด เจ้าภาพผู้เป็นเจ้าของกฐิน หรือ รับพระราชทานผ้ากฐินทานมาจึงพากันไปยังวัดเพื่อทำพิธีถวาย

      การฉลองกฐินก่อนนำไปวัด มีการทำบุญเลี้ยงพระ และเลี้ยงผู้คนที่บ้านของผู้เป็นเจ้าของกฐิน เนื่องจากการทอดกฐินเป็นการถวายทานพิเศษแก่พระสงฆ์ที่ได้จำพรรษาครบไตรมาส นับว่าได้กุศลแรง จึงเป็นงานใหญ่ที่อาจมีมหรสพสมโภช และมีการรวบรวมปัจจัยไปวัดถวายพระ เช่น กฐินสามัคคี พอถึงกำหนดวันทอดก็จะมีการแห่แหนเป็นกระบวนไปยังวัดที่จะทอด มีเครื่องบรรเลงมีการฟ้อนรำนำขบวนตามประเพณีนิยม

การถวายกฐิน

      กฐินพระราชทาน จะถวายในโบสถ์ ก่อนถึงกำหนดเวลาจะเอาเครื่องบริวารกฐินไปจัดตั้งไว้ในโบสถ์ก่อน ส่วนผ้ากฐินพระราชทานจะยังไม่นำเข้าไป พอถึงกำหนดเวลาพระสงฆ์ที่จะรับกฐิน จะลงโบสถ์พร้อมกัน นั่งบนอาสนที่จัดไว้ เจ้าภาพของกฐิน พร้อมด้วยผู้ร่วมงานจะพากันไปยังโบสถ์ เมื่อถึงหน้าโบสถ์เจ้าหน้าที่จะนำผ้าพระกฐินไปรอส่งให้ประธาน ประธานรับผ้าพระกฐินวางบนมือถือประคอง นำคณะเดินเข้าสู่โบสถ์ แล้วนำผ้าพระกฐินไปวางบนพานที่จัดไว้หน้าพระสงฆ์ และหน้าพระประธานในโบสถ์ คณะที่ตามมาเข้านั่งที่ ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วกราบพระพุทธรูปประธานในโบสถ์แบบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง แล้วลุกมายกผ้าพระกฐินในพานขึ้น ดึงผ้าห่มพระประธานมอบให้เจ้าหน้าที่ รับไปห่มพระประธานทีหลัง แล้วประนมมือวางผ้าพระกฐินบนมือทั้งสอง หันหน้าตรงพระสงฆ์แล้วกล่าวคำถวายผ้าพระกฐิน จบแล้วพระสงฆ์รับสาธุการ ประธานวางผ้าพระกฐินลงบนพานเช่นเดิม แล้วกลับเข้านั่งที่ ต่อจากนี้ไปเป็นพิธีกรานกฐินของพระสงฆ์

      กฐินสามัคคี นิยมถวายกันที่ศาลาการเปรียญ หรือ วิหาร สำหรับทำบุญ แล้วเจ้าหน้าที่จึงนำผ้ากฐินที่ถวายแล้วไปถวายพระสงฆ์ ทำพิธีกรานกฐินในโบสถ์เฉพาะพระสงฆ์อีกทีหนึ่ง

อนิสงส์ผู้ทอดถวายกฐิน

     การทอดกฐินเป็นกาลทาน ปีหนึ่ง วันหนึ่ง ทำได้ครั้งเดียวในปีหนึ่ง ต้องทำภายในกำหนดเวลา และผู้ทอดก็ต้องตระเตรียมจัดทำเป็นงานใหญ่ ต้องมีผู้ช่วยเหลือหลายคน จึงนิยมกันว่าเป็นพิธีบุญที่อานิสงส์แรง น่าคิดอีกทางหนึ่งว่า พิธีเช่นนี้ได้ทั้งโภคสมบัติ เพราะเราเองบริจาค ได้ทั่งบริวารสมบัติเพราะได้บอกบุญแก่ญาติมิตรให้มาร่วมการกุศล กาลทานเช่นนี้ เรียกว่า ทานทางพระวินัย

ธงกฐิน

      เครื่องหมายแสดงให้รู้ว่าวัดนี้ได้รับผ้ากฐินแล้ว และปริศนาธรรม รูปสัตว์ต่าง ๆ บนธงกฐินนี้ บอกสอนไว้ให้รู้ในลักษณะที่ว่า คนที่สามารถทำกฐิน หรือ เจ้าภาพทอดกฐินได้ ต้องเป็นคนจิตใจกว้าง มีความเสียสละเป็นอันมาก รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แม้กระทั้งสัตว์ที่มีพิษร้ายก็สามารถมาร่วมทำบุญได้ หรือ อีกความหมายหนึ่งนักปราชญ์อีสานโบราณท่านอธิบายเปรียบเทียบกับโลภะ โทสะ โมหะ ได้ชัดเจน

หัวเรื่อง

ฮีตสิบสอง

หมวดหมู่

ศาสนสถาน

คำสำคัญ

กฐินและผ้าป่า

รายการอ้างอิง

  1. ความหมายของธงกฐิน. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2563, จาก https://www.dra.go.th/th/mobile/content.php?param=-4-42-1-4325
  2. การทอดกฐิน. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2563, จาก https://kathinceremony.wordpress.com/