โดยมีภารกิจดำเนินการเป็นศูนย์ประสานงาน และแหล่งเรียนรู้ เช่น
อาคารพิพิธภัณฑ์ อพ.สธ.
อาคารจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตลอดจนนิทรรศการงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น และงานพฤกษศาสตร์โรงเรียน
อาคารนิทรรศการหยาดป่า
จัดแสดงงานศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากพืช เพื่อเป็นสีย้อมเส้นใยธรรมชาติให้ได้สีที่มีคุณภาพดี คงทนต่อแสง และการซัก โดยทำการศึกษาวิจัยในพืชกว่า 50 ชนิด ที่ปลูกและอนุรักษ์ในศูนย์ อพ.สธ คลองไผ่ และผลิตภัณฑ์ที่ใช้สีย้อมจากธรรมชาติจากพืชนานาพรรณแบ่งเป็น 6 กลุ่มโทนสี ได้แก่
- กลุ่มโทนสีเขียว
- กลุ่มโทนสีดำ
- กลุ่มโทนสีแดง
- กลุ่มโทนสีน้ำเงิน
- กลุ่มโทนสีน้ำตาล
- กลุ่มโทนสีเหลือง
ด้วยสีย้อมไหมเทคนิคพิเศษ ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม ทำให้สีติดเส้นไหมคงทนต่อการซัก และทนต่อแสงแดด เมื่อนำไปทอจึงได้ผ้าไหมที่มีคุณภาพดี มีความอ่อนนุ่ม จากคุณสมบัติดังกล่าวทำให้ ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติที่ผลิตภายใต้เครื่องหมายหยาดป่า ได้รับรางวัล Excellent Award จากสมาคมหัตกรรมอาเซียนและยูเนสโก ซึ่ง "หยาดป่า" เป็นตราผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน ด้วยการได้ขอพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เพื่อนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์บนฐานทรัพยากรทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่เชิงพาณิชย์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
อาคารผลิตชาสมุนไพร
จัดแสดงองค์ความรู้และสาธิตวิธีการแปรรูปพืชที่ปลูกอนุรักษ์ไว้มาใช้ประโยชน์ โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ด้วยกระบวนการผลิตและเทคนิคที่มีความจำเพาะเพื่อเพิ่มรสชาติให้ดีที่สุด จนได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ได้แก่ ชามะตูม ซึ่งมีการรวบรวมพันธุ์มะตูมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กว่า 7,000 ต้น ชาใบหม่อน ชาใบผักหวานป่า ชาใบมะรุม ชาผักเชียงดา ชาใบรางจืด ชากระเจี๊ยบแดง และชาใบมะกอกโอลีฟ
อาคารภูมิปัญญาท้องถิ่น
ลักษณะอาคารเป็นบ้านใต้ถุนสูง จัดแสดงการจำลองวิถีชีวิตชาวบ้าน อาทิ การทำเกษตรกรรม กาทอผ้า การละเล่นพื้นบ้าน การใช้สมุนไพรในการรักษาโรค โดยมีอุปกรณ์และของใช้จัดแสดง เช่น เกวียน เครื่องสีขาวโบราณ กระด้งฝัดข้าว ว่าว รางบดยาสมุนไพร เป็นต้น
อาคารปฏิบัติการเนื้อเยื่อพืช
ดำเนินการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษาพันธุกรรมพืชที่มีความสำคัญในรูปของเนื้อเยื่อ เช่น พืชสมุนไพร ไม้ผล ไม้ประดับ กล้วยไม้ชนิดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการขยายพันธุ์พืชที่มีศักยภาพ สามารถพัฒนาเพื่อเป็นการค้าได้ เช่น ม่วงเทพรัตน์ และกุหลาบจิ๋ว
โรงนา
อาคารสำหรับจัดกิจกรรมด้านการเกษตร การปลูกผักอินทรีย์ การเกษตรทฤษฎีใหม่ การทำสลัดโรล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นจุดชมวิวเเขาเควสตาโคราช
แปลงสาธิตหม่อนกินผล
แปลงสาธืตการปลูกหม่อนกินผล พันธุ์เชียงใหม่ 60 ให้ได้ผลผลิตตลอดทั้งปี สามารถเก็บผลหม่อนกินสด ๆ จากต้น และเป็นจุดถ่ายภาพ
The Botanic Store
จัดแสดงและจำหน่ายพันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ ในราคาย่อมเยา เช่น พืชสมุนไพร ไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ แคคตัส ไม้ในพระนาม เช่น จำปีสิรินธร ม่วงเทพรัตน์ และพันธุ์ไม้อนุรักษ์อื่น ๆ เช่น ขนุนไพศาลทักษิน เป็นต้น
Plant Workshop
อาคารสำหรับจัดประชุม สัมมนาปฏิบัติการและกิจกรรมต่าง ๆ รองรับการประชุมได้มากกว่า 100 คน สถานที่มีความสวยงาม และสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมให้บริการ เช่น WIFI เครื่องปรับอากาศ และสื่อโสตทัศนูปกรณ์
สวนหินเควสตาโคราช
แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับภูเขาหินทราย ที่มีรูปร่างคล้ายมีดอีโต้ หนึ่งในความโดดเด่นทางธรณีสัณฐานของอุทยานธรณีโคราช สวนหินขนาด 1,000 ตารางเมตร ที่รวบรวมหินทรายและหินอีกหลายชนิด ที่นำมาจากพื้นที่อุทยานธรณี และหลายอำเภอในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อบอกเล่าเรื่องราว อารยธรรม วัฒนธรรม หลายยุคหลายสมัย
กิจกรรมอื่นน่าสนใจ
- การฝึกอบรมและสนับสนุนการดำเนินงานงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น
- การผลิตเกษตรอินทรีย์ การปรับแปลง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักอีกด้านของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นอกจากนี้มหาวิทยาลัยมุ่งจะพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มเกษตรกร รวมถึงอุตสาหกรรมการแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
- การสกัดสีธรรมชาติ การมัดย้อมจากสีธรรมชาติ และการทอผ้า
- การปลูกผักอินทรีย์ การทำปุ๋ยหมัก และการทำสลัดโรล
- การทำนา เช่น การดำนา การดูแลนาข้าว การเกี่ยวข้าว และประเพณีวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับข้าว
- การปลูกหม่อนกินผล
- การขยายพันธุ์พืช การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช และการคัดแยกเมล็ดพันธุ์พืช
- การเป็นศูนย์ฝึกอบรมเพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกร และบุคคลทั่วไป ในการที่จะดำเนินการตามแนวพระราชดำริ ให้มีความพอเพียง แต่มั่งคั่งและมั่นคง เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน
- กิจกรรมตามฤดูกาล เช่น กิจกรรมดูหิ่งห้อย กิจกรรมดูนก และกิจกรรมดูดาว
สถานที่ท่องเที่ยว
ศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้
พอ.สธ. คลองไผ่, การเรียนรู้, พันธุ์พืช, การคุ้มครอง, พันธุ์พืชดั้งเดิม, เกษตรทฤษฎีใหม่
ที่อยู่: | ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (อพ.สธ.-มทส.) ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา 30340 |
โทรศัพท์: | 0 4432 3129 |
โทรสาร: | 0 4432 3129 |
อีเมล์: | rpsutklongphai@gmail.com |
Facebook: | ้https://www.facebook.com/rpsut |