วันเดือนปีเกิด วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2491
เกิดที่อำเภอประทาย เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 11 คน
การศึกษา
- เริ่มการศึกษาชั้นประถมศึกษาที่อำเภอพิมาย
- ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนศิริวิทยากร อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ท่านเรียนเก่งสอบติดบอร์ดของประเทศไทย
- จบแพทย์ศาสตร์บัณฑิตรุ่นที่ 3 จากคณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดี ระหว่างที่ศึกษาอยู่ในกรุงเทพฯ ได้อาศัยอยู่ที่วัดระฆัง เนื่องจากฐานะยากจนและเรียนแพทย์ต้องใช้ทุนทรัพย์มาก จนพ่อแม่ต้องขายนาและกู้หนี้ยืมสินเพื่อส่งให้เรียน ระหว่างเรียนก็ได้รับความอนุเคราะห์จากพระมหาดอกไม้ ทุนกาชาด และตระกูลพิศาลบุตร ตลอดจนเพื่อนฝูง ซึ่งท่านเหล้านี้มีส่วนผลักดันและช่วยเหลือให้นายแพทย์กวี เรียนแพทย์ได้สำเร็จสมความตั้งใจ
ตำแหน่ง
ท่านเริ่มงานเป็นแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาล จังหวัดอุบลราชธานี และเป็นแพทย์ประจำบ้านภาควิชากุมารเวชาศาสตร์ ที่คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีก 1 ปี จึงเดินทางกลับไปบ้านเกิดที่อำเภอประทาย เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2517 ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล ซึ่งมีแพทย์อยู่เพียงคนเดียว
อำเภอประทายในตอนนั้นเป็นอำเภอเล็กๆ ที่อยู่ห่างจากตัวจังหวัดถึง 96 กิโลเมตร การเจ็บป่วยได้แพทย์ประจำตำบล พนักงานอนามัยหรือผดุงครรภ์ที่อยู่ตามสถานีอนามัย ถ้าป่วยหนักก็ต้องพากันมารักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัด เมื่ออำเภอประทายได้ยกฐานะจากกิ่งอำเภอใน พ.ศ. 2515 ชาวประทายจึงดิ้นรนที่จะมีโรงพยาบาลในอำเภอของตน แต่ได้รับคำตอบว่า รัฐไม่มีนโยบายที่จะสร้างโรงพยาบาลอำเภอ ถ้าจะสร้างก็ต้องมีแพทย์มาเขียนสัญญาไว้ก่อนว่าจะมาอยู่จริง เพราะในขณะนั้นมีโรงพยาบาลหลายแห่งที่สร้างแล้วแต่หาแพทย์ไปอยู่ไม่ได้ ครูลำพูน พลพิทักษ์ ซึ่งเคยสอนนายแพทย์กวีที่ประทายนึกได้ว่า มีลูกศิษย์คนหนึ่งเรียนแพทย์อยู่ที่คณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดีอีก 2 ปีจึงจะจบ จึงได้มาติดต่อทาบทามขอร้องให้ท่านกลับไปอยู่ประทายเมื่อนายแพทย์กวีตอบตกลง โรงพยาบาลอำเภอประทายจึงเริ่มดำเนินการก่อสร้าง
แม้ว่าเหตุผลที่นายแพทย์กวี เลือกเรียนแพทย์นั้นเป็นเพราะแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจ ความยากจนของพ่อแม่ และได้เห็นตัวอย่างที่เล่าสืบต่อกันมาถึงความสุขสบายของแพทย์ จึงเกิดความหวังอยากที่จะเรียนแพทย์และนับวันที่จะได้จบเพื่อให้พ้นจากความทุกข์ยากเสียที แต่ในระหว่างที่เป็นแพทย์ฝึกหัดอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี และกลับมาเป็นแพทย์ประจำบ้านที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ความคิดของท่านเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แรงบันดาบใจที่ทำให้ท่านตัดสินใจกลับสู่บ้านเกิดนั้นมีหลายประการ ซึ่งแต่ละเหตุผลได้ช่วยส่งเสริมให้อุดมคติของท่านที่จะออกไปอุทิศตนให้ชนบทนั้นมั่นคงขึ้น เหตุผลประการแรก คือ การได้ยินกิติศัพท์ของแพทย์ 2-3 ท่านที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาการสาธารณสุขในชนบท เช่น นายแพทย์กระแสร์ ชนะวงศ์,นายแพทย์มงคล ณ สงขลา (ซึ่งทั้งสองท่านนี้เคยได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทเมื่อปี พ.ศ. 2516 และ พ.ศ. 2518 ตามลำดับ) ของคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ท่านตัดสินใจกลับบ้านเกิด คือ ความคิดที่ว่า "ตนเองเป็นคนชนบทน่าจะกลับไปรับใช้บ้านเกิดเมืองนอน จะไปเรียกร้องคนอื่นให้กลับได้อย่างไร ถ้าตนเองไม่กลับ" นอกจากนี้เวลาที่ผ่านมาทำให้เกิดความรู้สึกว่า ตนเองไม่ชอบชีวิตในเมืองใหญ่ กลับหวนคิดถึงความสงบสุขของชีวิตวัยเยาว์ที่ประทาย จึงต้องการกลับไปสัมผัสบรรยากาศเช่นนั้นอีก ความยากจนที่ผ่านมาก็ทำให้รู้สึกว่าคงไม่เดือดร้อนอะไรหากจะจนต่อไปอีก และการเป็นคนจนในชนบทคงไม่ต้องดิ้นรนอะไรมากนักด้วยความคิดดังกล่าว ท่านจึงได้เดินทางมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลประทาย
ผลงานที่ท่านได้กระทำให้กับถิ่นกำเนิด มีทั้งด้านจัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพอนามัยในทุกรูปแบบควบคู่กับงานด้านรักษาพยาบาล การอุทิศเวลาให้กับงานโดยไม่มีวันหยุดแม้วันเสาร์อาทิตย์ โดยปรากฏว่า ได้รับความสำเร็จอย่างน่าชื่นชมและน่าสรรเสริญ มีคนไข้มารับการรักษาเฉลี่ยวันละประมาณ 100 ถึง 200 คน และเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ผู้ที่มารับการรักษามีทั้งจากอำเภอประทายและอำเภอใกล้เคียง ท่านจึงเป็นเป็นที่รักและเป็นที่ภูมิใจของชาวประทาย ต่อมามหาวิทยาลัยมหิดลได้ขอยืมตัวท่านไปปฏิบัติงานที่ศูนย์เขมรอพยพ อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ พร้อมทั้งทำหน้าที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอประทาย
เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2523 คณะกรรมการประชุมวิชาการ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ประกาศตัดสินให้ท่านได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปีพุทธศักราช 2523 ด้วยวัยเพียง 31 ปี ในเกียรติคุณด้านการอุทิศตนให้แก่การสาธารณสุขในชนบทอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ขยันขันแข็ง และมีความรับผิดชอบ ทุ่มเทเวลาให้แก่ราชการตลอด 24 ชั่วโมงอย่างแท้จริง เมื่อผู้ป่วยมารับการรักษาไม่ว่าจะเป็นโรคใด แม้แต่นอกเวลาราชการวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ จะได้บริการรักษาอย่างดี อบอุ่น และทั่วถึง
ก่อนที่จะถึงจุดที่ท่านผ่านการต่อสู้ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอที่จบใหม่ อายุเพียง 25 ปี ขาดทั้งประสบการณ์ชีวิตและการทำงาน ความรู้ทางวิชาการที่เรียนมาก็ไม่สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ได้เต็มที่ ความรู้สึกของท่านตอนนั้นเข้าใจได้จากบทความของท่านตอนหนึ่งว่า "ในวันแรกที่เข้าไปอยู่รู้สึกไม่ควรตัดสินใจเช่นนี้ เหมือนเด็กหัวดื้อคนหนึ่งเดินอยู่ในป่าใหญ่ วกวนจนปวดหัว เหนื่อยล้าท่ามกลางพายุฝนที่โหมกระหน่ำ ซ้ำยังถูกภัยมืดทางการเมืองตามรังควานเหมือนเดิมอยู่บนทางสายเปลี่ยวซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเดินไปทางไหนกันแน่ มิหนำซ้ำยังเป็นทางที่คดเคี้ยว กันดาร อ้างว้างเปล่าเปลี่ยว และขมขื่นยิ่งนัก"
คำประกาศเกียรติคุณตอนหนึ่งกล่าวว่า ..."นับว่านายแพทย์กวี ไชยศิริ ได้เสียสละกำลังสติปัญญาแก่งานสาธารณสุข และการพัฒนาชนบทอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เป็นผู้เปี่ยมไปด้วยเมตตามีคุณธรรมสูง ผลงานใน 5 ปีที่อำเภอประทายได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า นายแพทย์กวี ไชยศิริ สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทของคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลในปีนี้ เป็นบุคคลที่มีค่ายิ่งของวงการแพทย์และประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน ขอให้คุณความดีที่นายแพทย์กวีได้กระทำตลอดมา จงบันดาลให้นายแพทย์กวีและครอบครัวมีความสุข ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นที่พึ่งของชาวชนบทต่อไปตลอดนานเท่านาน" จึงมิได้เป็นข้อความที่เกินเลยจากความเป็นจริงเลย
ตำแหน่ง
- พ.ศ. 2525-2528 ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปราสาท จังหวัดสุรินทร์
- พ.ศ. 2528-2529 ผู้อำนวยการ สว.บส. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์
- พ.ศ. 2535-2539 ผู้อำนวยการกรรมการกลางการเลือกตั้ง
- พ.ศ. 2537-2541 ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยโสธร
- พ.ศ. 2541-2551 ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี
- ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด
- ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ม.ว.ม.) เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2541
- ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ม.) เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2545
- มหาวชิรมงกุฎไทย (ป.ช.) เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550
บุคคลสำคัญ
บุคคล
แพทย์