วัดเขาพญาปราบ


รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

    ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2479 สังกัดมหานิกาย เดิมเป็นเพียงสำนักสงฆ์ เมื่อปี พ.ศ. 2495 หลวงพ่อเปลี่ยน มหาวีโร จากวัดสุขัง ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เดินธุดงค์มายังเขาพญาปราบ เพื่อศึกษาธรรมะปฏิบัติตามหลักธรรมะ ของสัมมาพระพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด เพื่อแสวงหาความสงบสุขที่แท้จริง ได้มาพบถ้ำแห่งหนึ่งที่บนไหล่เขาพญาปราบ อยู่ใต้ก้อนหินใหญ่มีหน้าผายาวประมาณ 50 เมตร ความลึกประมาณ 4 เมตร สูงประมาณ 2.50 เมตร และยังพบน้ำซับไหลมาจากภูเขาพญาปราบตลอดทั้งปี อยู่ในบริเวณดังกล่าว ประกอบด้วยมีป่าไม้สมบูรณ์หนาแน่น ให้ความร่มรื่นสงบเงียบ เย็นสบาย จึงได้ปักกลดอยู่หน้าถ้ำ ศึกษาและปฏิบัติธรรมะเรื่อยมา เมื่อถึงเวลาเช้าได้ปฏิบัติพุทธกิจจะออกบิณฑบาตไปตามหมู่บ้านทุกวัน โดยสลับกันไประหว่างหมู่บ้านเขาพญาปราบ บ้านกุดคล้า หมู่ที่ 3 บ้านโคกเหิบ หมู่ที่ 12 ลำสำลาย (บ้านชุมชนพัฒนา) หมู่ที่ 19 จนทำให้ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธาเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่งโดยทั่วกัน 

      พ.ศ. 2497 นายแสง นิลดีสระน้อย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลตะขบในสมัยนั้น (ซึ่งรวมหมู่ที่ 3 บ้านกุดคล้า หมู่ที่ 12 บ้านโคกเหิบ หมู่ที่ 19 ลำสำลาย บ้านชุมชนพัฒนา) ได้นำชาวบ้านร่วมกันก่อสร้างกุฏิขึ้น 1 หลัง เป็นสำนักสงฆ์ให้กับหลวงพ่อเปลี่ยน มหาวีโร ต่อมาได้สร้างขึ้นทางทิศตะวันออกอีก 1 หลัง เพื่อเป็นโรงครัว และเป็นที่ฉันภัตตาหารเป็นกุฏิไม้หลังคามุงด้วยหญ้าคา

      พ.ศ. 2499 พระคุณเจ้าคุณหลวงพ่อพระยากำธร พายัพทิพย์ ในสมัยก่อนเรียกว่าเจ้าขุน มีตำแหน่งเป็นเจ้าเมือง ปัจจุบันเรียกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มาปฏิบัติธรรมศึกษาธรรมะ ร่วมกับ หลวงพ่อเปลี่ยน มหาวีโร และสามเณรอีกหลายรูป ต่อมาท่านได้อาพาธด้วยโรคมาลาเรีย ญาติได้รับมารักษาที่โรงพยาบาลนครราชสีมา (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา) และมรณภาพที่โรงพยาบาลดังกล่าว

      พ.ศ. 2501 ด้วยบารมีของหลวงพ่อเปลี่ยน มหาวีโร เจ้าของโรงงานน้ำตาลหลายโรงงาน และชาวบ้าน เกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงพร้อมใจกันหาทุนทรัพย์ก่อสร้างกุฏิหลังใหญ่ขึ้น 1 หลัง อยู่บริเวณที่ราบหน้าถ้ำลงมา

      พ.ศ. 2503 หลวงพ่อเปลี่ยน มหาวีโร ได้ปฏิบัติธรรมแบบเคร่ง คือ ฉันภัตตาหารเวลาเดียวต่อวันคือ เวลาประมาณ 10.00 น เป็นประจำมาโดยตลอด ต่อมาท่านได้ประพฤติปฏิบัติเข้ากรรมวิปัสนากรรมฐาน เดินจงกลม อดอาหาร ฉันแต่น้ำและเครื่องดื่ม เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อฝึกจิตให้สงบหาทางหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง (ดังองค์สัมมาพระพุทธเจ้า) และปฏิบัติธรรมเหมือนเดิม พร้อมทั้งได้ปฏิบัติเช่นเดียวกันอีกเป็นเวลา 90 วัน ก็ไม่สามารถหลุดพ้นไปได้ จึงหันมาฉันท์อาหารเหมือนเดิม ทำไห้ชาวบ้านยิ่งเลื่อมใสศรัทธามากขึ้น

      พ.ศ. 2512 หลวงพ่อเปลี่ยน มหาวีโร ไปธุดงค์ปฏิบัติธรรมอยู่ที่ วัดผาเกิ้ง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ท่านไป ๆ มา ๆ ระหว่างวัดเขาพญาปราบและวัดผาเกิ้งอยู่หลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2514 หลวงพ่อเปลี่ยน มหาวีโร ได้ถึงแก่มรณภาพที่วัดผาเกิ้ง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ นายประมูล ศรัทธาทิพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ในขณะนั้น เป็นเจ้าภาพจัดหารถและนำชาวบ้านนำศพกลับมายังวัดเขาพญาปราบ ในฐานะที่ท่านเป็นคน อ.ปักธงชัย ทางวัด และชาวบ้าน ได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลและนำศพมาเก็บไว้ที่ถ้ำบริเวณใกล้วัดเขาพญาปราบ ที่หลวงพ่อเคยมาอยู่ครั้งแรก โดยเก็บศพไว้นานถึง 8 ปี

     พ.ศ. 2516 ได้มีอาจารย์บัวฯ มาอยู่รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดเขาพญาปราบ ต่อมาอาจารย์บัวได้ลาไปจำพรรษาที่วัดอื่น พ.ศ. 2517 ได้มีพระภิกษุกุ (เชื่อมตะคุ) ได้มาจำพรรษาอยู่ได้ประมาณ 1 ปี ก็กลับไปจำพรรษาที่วัดสุขัง ต่อมาได้ลาสิกขาบทไป

      พ.ศ. 2518 หลวงพ่อพันธ์ สมาจาโร เดิมอุปสมบทจำพรรษาอยู่ที่วัดพระเพลิง ต.นกออก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาพญาปราบ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัด พ.ศ. 2519 หลวงพ่อพันธ์ สมาจาโร มีความเห็นว่าวัดเขาพญาปราบ ตั้งอยู่ที่สูงระยะทางเดินไกลประกอบกับท่านอายุมาก จึงได้ปรึกษาขอความเห็นจากญาติโยมให้ย้ายกุฏิและศาลาการเปรียญลงมาก่อสร้างด้านล่างใกล้โรงเรียนบ้านเขาพญาปราบ

      พ.ศ. 2522 หลวงพ่อพันธ์ สมาจาโร ได้ประชุมปรึกษาหารือกับชาวบ้านจัดให้มีงานฌาปนกิจศพของหลวงพ่อเปลี่ยน มหาวีโร อย่างสมเกียรติ มีมหรสพฉลองเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน พ.ศ. 2525 หลวงพ่อพันธ์ สมาจาโร ได้มรณภาพลง ได้มีอาจารย์แล อภิปุญโณ (ลาภากิ่ง) และหลวงพ่ออ่อน จากวัดปอแดง มาจาริกธรรม ทัศนะศึกษาและปฏิบัติธรรมที่วัด ชาวบ้านและญาติโยม ได้อาราธนานิมนต์ให้ท่านจำพรรษาและอยู่ประจำที่วัด ต่อมาภายหลังท่านพระอาจารย์แล อภิปุญโณ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดเขาพญาปราบ ในเวลาต่อมา

      พ.ศ. 2526 พระอาจารย์แล อภิปุญโณ (ลาภากิ่ง) และหลวงพ่ออ่อน ได้จัดให้มีงานการเข้าปริวาสกรรมของพระสงฆ์ขึ้น จัดให้มีการบำเพ็ญกุศล โดยมีพระสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา และประชาชน ผู้มีจิตศรัทธาจำนวนมากจากทั่วสารทิศ มาร่วมตักบาตรทำบุญบำเพ็ญกุศลอย่างต่อเนื่องหลายปี ทำให้วัดมีทุนทรัพย์ในการพัฒนาการก่อสร้างเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อมาพระอาจารย์แล อภิปุญโณ (ลาภากิ่ง) ได้ลาสิกขาบท และได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านกุดคล้า หมู่ที่ 3 ตำบลตะขบ (ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2545-2550) ต่อมาหลวงพ่ออ่อนก็กลับไปอยู่และสร้างวัดเขาตะกุดรัง และในปี พ.ศ. 2545 ได้กลับมาอยู่ที่วัดเขาพญาปราบ อีกครั้ง

ลักษณะวัด พัทธสีมา

ประเภทวัด วัดราษฎร์

อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ สร้างในปี พ.ศ. 2540 ศาลาการเปรียญ ศาลาหอฉัน กุฏิสงฆ์ โรงครัว ศาลาบำเพ็ญกุศล และฌาปนสถาน

การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ

1. หลวงพ่อเปลี่ยน มหาวีโร พ.ศ. 2502-2514

2. พระอาจารย์บัวฯ รักษาการแทนเจ้าอาวาส

3. หลวงพ่อพันธ์ สมาจาโร พ.ศ. 2518-2525

4. พระอาจารย์แล อภิปุญโณ พ.ศ. 2526 และหลังจากพระอาจารย์แล แล้ววัดเขาพญาปราบ ไม่มีเจ้าอาวาสจนถึงปี พ.ศ. 2529

5. พระอาจารย์แดง พ.ศ. 2529-2530

6. พระอาจารย์ชอบ พ.ศ. 2532-2533

7. เจ้าอธิการสำราญ จิตญาโณ พ.ศ. 2534-2540

8. พระอธิการบุญมี ธมุมวิจโย เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสนใจ

- ศาลารวบรวมเครื่องอัฐบริขารหลวงพ่อเปลี่ยน มหาวีโร ผู้สร้างวัดองค์แรก - เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างในปี พ.ศ. 2526 โดยสร้างอยู่บนหลังเขาพญาปราบ ซึ่งเป็นการก่อสร้างที่ทำได้ยากเพราะต้องขนวัสดุต่าง ๆ ขึ้นไปบนเขาโดยใช้ทุนทรัพย์และกำลังคนจำนวนมาก

หัวเรื่อง

วัดในจังหวัดนครราชสีมา

หมวดหมู่

ศาสนสถาน

คำสำคัญ

วัด

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:21 บ้านเขาพญาปราบ หมู่ที่ 15 ตำบลตะขบ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา 30150
แผนที่:https://goo.gl/maps/DL2MR1hSm7MC3as98

รายการอ้างอิง

  1. กระทรวงศึกษาธิการ. กรมการศาสนา. (2542). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 17. กรุงเทพฯ: กระทรวง.
  2. ถนอม เรไรสระน้อย. ประวัติความเป็นมาของวัดพญาปราบ. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2562, จาก http://www.kroobannok.com/blog/46433