นายประคอง มนต์กระโทก


รายละเอียด

นายประคอง มนต์กระโทก

วันเดือนปีเกิด เกิดเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2482 ที่บ้านทุ่งอรุณ ต.พลับพลา อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา มีพี่น้องจำนวน 5 คน

บิดา นายห้าว มนต์กระโทก มารดา นางทองอยู่ มนต์กระโทก

คู่สมรส แต่งงานครั้งแรก มีบุตรชาย 1 คน ต่อมาได้แยกทางกัน และได้แต่งงานครั้งที่ 2 กับ นางลาย มนต์กระโทก คนบ้านพลับพลา มีบุตร 1 คน

การศึกษา

- จบชั้นประถมการศึกษาชั้นปีที่ 4 

- บวชเรียน ฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อน้อย เกตุโร สำนักวัดป่าธรรมนิการาม

- เรียนนักธรรม ที่วัดสุทธจินดา สอบได้นักธรรมโท ใช้เวลา 2 ปี สอนหนังสือพระเณรในวัดขณะที่บวชเรียน และได้เข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ จนจบนักธรรมเอก

- จำพรรษาที่วัดศาลาลอย อ.เมือง จ.นครราชสีมา ขณะที่บวชเรียนด้วยปฏิบัติกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ

- เจ้าอาวาสวัดสระแก้ว อ.เมือง จ.นครราชสีมา

- เรียนการทำบัญชีเบื้องต้นทางไปรษณีย์ สถาบันเทคนิคการบัญชี

อาชีพ ปัจจุบันประกอบอาชีพเกษตรกรรม 

การทำงาน

    เมื่อลาสิกขาบทได้แต่งงานประกอบอาชีพทำนา และมีอาชีพเสริมเป็นช่างตัดผมเวลาว่างจากการทำนา และถีบสามล้อรับจ้างใน จ.นครราชสีมา

- สมัครเป็นครู และได้รับการบรรจุเป็นครูมูล

- ช่างไม้ แล้วเปลี่ยนมาเป็นยามรักษาการณ์ในค่ายทหารอเมริกัน เมื่อประเทศสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาตั้งฐานทัพใน จ.นครราชสีมา ได้สมัครเป็นยามรักษาการณ์ ทำให้ต้องย้ายไปตามจังหวัดต่าง ๆ ที่มีค่ายทหารอเมริกัน จึงเกิดความเบื่อหน่ายชีวิตที่ต้องห่างไกลครอบครัว และคิดว่าไม่ใช่การดำเนินชีวิตที่ต้องการ จึงลาออกกลับบ้านเกิด

- พ.ศ. 2514 ได้ทดลองเลี้ยงปลาครั้งแรก เมื่อทางราชการมีการสร้างคลองส่งน้ำจากเขื่อนลำพระเพลิง และส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวนาปรัง นายประคองจึงเริ่มขุดบ่อปลาใช้เวลานานประมาณ 8 เดือน ได้บ่อกว้าง 2 งาน ลึก 1 เมตร เพื่อปล่อยปลาแต่กลับล้มเหลว เมื่อฝนตกน้ำท่วมปลาหนีหมด แต่ไม่ท้อ จึงได้ปรับปรุงบ่อโดยยกคันดินให้สูงพร้อมทำร่องระบายน้ำ นอกจากเลี้ยงปลาแล้วมีการปลูกไม้ผลบนคันบ่อ จากความพยายามในช่วง 4-5 ปี ครอบครัวเริ่มมีรายได้

- ฝึกอบรมการเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลา เมื่อเจ้าหน้าที่กรมประมงเห็นว่า นายประคอง มีความตั้งใจทำงานอย่างจริงจังจึงสนับสนุนให้เข้ารับการฝึกอบรม เรื่องการเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลาที่สถานีประมงจังหวัดนครราชสีมาจนชำนาญ จึงได้เริ่มเพาะพันธุ์ปลาจำหน่ายให้กับสมาชิก และชาวบ้านที่สนใจ

- พ.ศ. 2522 มีอาสาสมัครอเมริกันพัฒนาชนบท ชื่อคุณแมรี่ มาฝึกงานร่วมกับนายประคอง และได้ร่วมกันออกศึกษาข้อมูลความเป็นไปได้ในการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลาในแถบ อ.เสิงสาง อ.ครบุรี อ.ปักธงชัย เป็นต้น

- ก่อตั้งศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง ต.พลับพลา ผลจากการหาความรู้ให้กับตนเองอยู่ตลอด ทำให้มีประสบการณ์จากการเรียนรู้ การสังเกต การทดลอง จนสามารถจัดความสัมพันธ์ของต้นไม้และดิน ออกมาเป็นความรู้ด้านการเลี้ยงปลา เช่น พื้นที่ที่มีต้นจิก ต้นจาน สามารถเลี้ยงปลาได้ดี เนื้อปลาอร่อย ส่วนพื้นที่ที่มีต้นยาง ต้นตะแบก ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เนื้อปลาจะไม่อร่อย นายประคองได้ทดลองตักน้ำจากคลองส่งน้ำลำพระเพลิงใส่ขวดไว้มีสลากบอกวันเดือนปีที่เก็บน้ำ เพื่อทดลองว่าน้ำมีตะกอนมากน้อยแค้ไหนหรือมีหินปูนหรือไม่ โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงปลา เพาะพันธุ์ปลา และการทำเกษตรแบบผสมผสาน

แนวคิด/ผลงาน/กิจกรรม

    เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการนำความรู้ทางพระพุทธศาสนามาผสมผสานกับการทำเกษตรกรรมในแนวเกษตรวิถีพุทธที่เน้นการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด โดยไม่ทำลายธรรมชาติ ใช้ชีวิตสมถะ พออยู่พอกิน เพื่อแก้ปัญหาการทำการเกษตรของเกษตรกร โดยเน้นการสำนึกถึงบุญคุณของแผ่นดินเป็นสำคัญ

รางวัลเกียรติยศ

- พ.ศ. 2539 คนดีศรีสังคม

- พ.ศ. 2544 ครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 1 ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน จาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

- พ.ศ. 2548 ปราชญ์ชุมชน กลุ่มเกษตรเชิงอนุรักษ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

หัวเรื่อง

ภูมิปัญญาชาวบ้านนครราชสีมา

หมวดหมู่

เกษตรกรรม

คำสำคัญ

ปราชญ์, ภูมิปัญญาชาวบ้าน, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, เกษตรกรรมแบบผสมผสาน, เกษตรกร

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่:29 บ้านทุ่งอรุณ หมู่ที่ 4 ตำบลพลับพลา อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา 30190

รายการอ้างอิง

  1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. (2548). ปราชญ์ชุมชน : สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน. กรุงเทพฯ: กระทรวง.
  2. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. (2542). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดนครราชสีมา. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
  3. บ้านไร่นาเรา. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2563, จาก http://sites.google.com/site/banrainarao/community/12_11
  4. ผู้เขียนและผู้เรียบเรียง, สุทธาสินี วัชรบูล, ถวัลย์ มาศจรัส และสายวรุณ บุญคง. (2544). ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 1 : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี.