headerBG
m1m2m3m4m5m6m7m8m9


การตีมีด

        ภูมิปัญญาชาวบ้านแรกเริ่มดั้งเดิม การตีมีด จะใช้แรงงานอย่างน้อย 4 คน ในการตี 1 ชิ้นงาน ในแต่ละครั้ง โดย 1 คน เป็นคนสูบลมเข้าเตาเพื่อเพิ่มความร้อน อีก 2 คน เป็นผู้มีหน้าที่ตีมีดด้วยการตีสลับ อีก 1 คน คอยทำหน้าที่พลิกหรือกลับมีดในขณะที่ตี
        ต่อมานายชม เชยโพธิ์ ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น เครื่องเจียรไฟฟ้า เครื่องเป่าลมไฟฟ้า สว่านไฟฟ้า หรือหินขัดต่อด้าม มาใช้ในขบวนการผลิต ทำให้รูปแบบดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไปบ้าง และลดแรงงานในการผลิต จากเดิมวันละ 2 เล่ม เป็นหลาย 10 เล่ม จากใช้ในครัวเรือน ก็พัฒนาเพื่อการจำหน่ายมากขึ้น

im_p2_1

im_p2_1

เครื่องมือในการตีมีด

วัสดุ
        เหล็ก วัสดุสำคัญในการใช้ตีมีด มีหลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับประเภทผลิตภัณฑ์และมีผลต่อราคาการจำหน่ายด้วย มีดบ้านลองตอง จะใช้เหล็กประเภทต่างๆ ในการตีมีด เช่น เหล็กแหนบรถยนต์ หรือ เหล็กสปริง ที่มีความเหนียวและแข็ง เหล็กแท่ง หรือ เหล็กพืด มีความเหนียวและแข็งน้อยกว่าเหล็กแหนบ ใช้ตีมีดดาบ มีดหวดหญ้า และมีดโต้
        ไม้ ใช้สำหรับทำด้ามมีด ทำจากไม้ชนิดต่างๆ เช่น ไม้ไผ่ ไม้ประดู่ ไม้แดง

อุปกรณ์
        เครื่องมือที่สำคัญในการทำมีดให้มีคุณภาพสูง มีความคม รูปร่างสวยงามและน่าใช้ เมื่อจะหาซื้อใหม่จะต้องเป็นมีดบ้านลองตองเท่านั้น
        1. ค้อนมี 2 ชนิด คือ ชนิดเล็ก และชนิดใหญ่ เรียกว่า พะเนิน ใช้ตีเหล็กขนาดใหญ่ มีหลายขนาด แบบชนิดหน้าเรียบ หน้าสอบ หน้าแหลม ใช้ตีเหล็กขณะเหล็กร้อนแดงสลับกัน ตีแบนเหล็กตามต้องการ
        2. สูบสำหรับเป่าลม มี 3 ชนิด คือ สูบยืนเป็นสูบคู่ สูบนอนเป็นสูบเดี่ยว สูบพัดลม ใช้พัดลมเข้าเตาให้ถ่านลุกแดงมีความร้อน
        3. ตีจับเหล็ก หรือ คีมจับเหล็ก ใช้คีบจับเหล็กขณะเผาไฟและจับเหล็กวางบนทั่งขณะตีหรือตัด
        4. เหล็กสกัด ใช้ตัดเหล็กให้ได้ขนาดและรูปทรงตามต้องการ
        5. ทั่ง มี 2 ชนิด คือ ทั่งใหญ่สำหรับรองเหล็กที่จะทำมีดใหญ่ๆ และทั่งเล็กสำหรับรองตีมีดเล็ก
        6. รังและทวายสำหรับบ้องมีด ใช้รองตีเหล็กด้ามมีด
        7. เลื่อยตัดเหล็ก มีทั้งเลื่อยไฟฟ้าและเลื่อยมือ ใช้ตัดข้อปลอกด้ามมีด
        8. เครื่องเจียรไฟฟ้ามีหลายแบบ ใช้เจียรคมมีด เจียรด้ามมีด และเจียรตกแต่ง
        9. ตะไบ มี 2 ชนิด คือ ตะไบหยาบ และตะไบละเอียด ใช้ตกแต่งคมมีดให้เรียบและคม
        10. เครื่องสว่านไฟฟ้า หรือ วิน ใช้เจาะรู เพื่อลงหมุดที่ปลอกด้ามมีด
        11. ตราประทับ สำหรับตอกใบมีด เป็นเครื่องหมายการค้า บ่งบอกชื่อช่างตีมีด
        12. เครื่องกลึง ใช้กลึงด้ามมีด
        13. ปั้มสูบลม หรือ พัดลมไฟฟ้าหอยโข่ง ใช้เป่าพัดลมไฟในเตาเผาให้ร้อนแดง
        14. เตาไฟ ทำจากอิฐบล๊อกทนไฟและก่อหุ้มด้วยดินจอมปลวก ใช้ใส่ถ่านเผาเหล็กให้แดง
        15. ถ่านไม้ สำหรับ เผาเหล็กที่จะตีเป็นมีด
        16. เหล็กขูด ทำด้วยเหล็กกล้าแข็ง ปลายบางคม ใช้สำหรับขูดใบมีดให้คม และบางตามต้องการ
        17. เครื่องขัด หรือ ปัดมีด
        18. หินลับมีด มี 2 ชนิด คือ หินหยาบ และหินละเอียด
        19. อ่างน้ำและน้ำชุบ สำหรับชุบคมมีด

Knife Knife Knife Knife
Knife Knife Knife Knife

 

การตีเหล็กเป็นมีด
        กรรมวิธี ขั้นตอน วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือ ในการตีเหล็กให้เป็นมีด จะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่จะมีความแตกต่างกันตามประเภทของมีด
        การตัดและผ่าเหล็ก เมื่อคัดเลือกเหล็กตามชนิดที่ต้องการ (ส่วนใหญ่เป็นเหล็กแหนบรถยนต์) วัดขนาดความยาวเท่ากับขนาดมีดที่จะตี นำเหล็กส่วนที่จะตัด ไปเผาไฟในเตาเผาจนเหล็กร้อนแดงได้ที่ จากนั้นใช้คีมจับเหล็กที่ร้อน มาวางบนทั่ง แล้วผ่าเหล็กแบ่งครึ่งด้วยเครื่องมือสกัด จะได้เหล็กสำหรับตีมีด 2 เล่ม

Loading the player...

 

        การแบนหรือตีหลาบ เมื่อตัดเหล็กตามต้องการ นำเหล็กไปเผาไฟ แล้วใช้คีมจับเหล็กที่ร้อนแดงมาวางบนทั่งเหล็ก ใช้ค้อนตีสลับกับค้อนพะเนินหรือค้อนปอนด์ การตีแบนทำสลับกับการเผาไฟให้ร้อนแดง ตีจนได้รูปร่างสวยงามตามต้องการ โดยการตีแบนมีด จะเริ่มจากการตีในส่วนเป็นด้ามมีดแล้วค่อยๆ ตีในส่วนที่เป็นใบมีด ตีตราสัญลักษณ์และใส่ด้ามมีด

Loading the player...

        การตีแต่ง เพื่อให้ผิวเหล็กเรียบและได้มีดตามรูปทรงที่ต้องการ การตีเหล็กเรียบและตีเพื่อขลิบคมหรือย้ำคมให้บางและตรง ก่อนที่จะนำไปตะไบอีกครั้ง
        การตอกตราสัญลักษณ์ ทำในช่วงที่เหล็กร้อนแดง อาจจะตอกช่วงที่แบนเหล็กหรือช่วงทำด้ามมีดก็ได้
        การตะไบตกแต่ง หลังจากตีมีดตามต้องการแล้ว นำมีดมาเจียรส่วนที่เป็นคมด้วยเครื่องเจียรไฟฟ้าก่อน เครื่องเจียรจะมีใบเจียรหลายขนาด ทั้งแบบหยาบและละเอียด จากนั้นนำมีดที่เจียรแล้ว ไปตกแต่งคมมีดด้วยการตะไบมือเป็นครั้งสุดท้าย      


การทำด้าม
        การทำบ้องหรือเดือยด้ามมีด คือ การตีเหล็กส่วนด้ามให้เป็นแผ่น แล้วตีปลายทั้งสองด้ามโค้งงอเข้าหากัน ช่างเรียกว่า ตีห่อบ้อง แล้วบัดกรี หรือ จอดด้วยทองเหลืองและน้ำประสานทอง ด้ามมีดแบบบ้องสามารถนำไปใช้ได้เลย หรือ นำด้ามไม้มาต่อให้ยาวขึ้นก็ได้  ด้ามมีดที่จะนำไปเข้าปลอก ช่างจะตีส่วนที่เป็นโคนเรียวเป็นเดือยแหลมให้ได้ขนาดตามต้องการ ซึ่งยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร แล้วนำไปตอกเข้ากับด้ามไม้
     ขั้นตอนการทำด้าม
        1. นำด้ามไม้ชนิดต่างๆ ที่เข้าปลอกเหล็กไว้แล้วไปเจาะรูด้วยสว่านไฟฟ้า
        2. นำครั่งที่ใช้ย้อมผ้ามาใส่ในรูของด้ามไม้ที่เจาะรูไว้แล้ว (ครั่งเปรียบเหมือนกาวที่ยึดมีดและด้าม ติดกันให้แข็งแรง) ปัจจุบันมีการนำแท่งกาวมาใช้แทนครั่ง
        3. นำด้ามมีดส่วนที่เป็นเดือยไปเผาไฟให้ร้อนแดง แล้วนำไปเสียบเข้ากับด้ามไม้ที่ใส่ครั่งไว้เรียบร้อยปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นแล้วนำไปตกแต่งตามความต้องการ

Loading the player...

 

Loading the player...

Loading the player...

                    

Loading the player...

                   
การชุบคมมีด
        มีดจะมีความคม และแข็งแกร่ง การชุบคมมีดเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ช่างทำมีดต้องมีความชำนาญเป็นพิเศษ การชุบคมมีดมี 2 แบบ คือ แบบชุบคมด้วยน้ำ และ แบบชุบคมด้วยน้ำมัน ช่างตีมีดบ้านลองตอง จะใช้วิธีการชุบคมมีดด้วยน้ำ โดยมีขั้นตอน
        1. นำมีดที่ตีและเข้าด้าม ไปเผาไฟเฉพาะส่วนที่เป็นคมให้แดงร้อนเท่ากันตลอด (ช่างจะสังเกตและกะเวลาตามประสบการณ์ว่าเหล็กร้อนได้ที่หรือยัง)
        2. นำมีดที่เผาแล้วมาชุบในอ่างน้ำโดยจุ่มเฉพาะส่วนที่เป็นคมมีดอย่างรวดเร็วประมาณ 1-2 ครั้ง สังเกตดูว่าสีของเหล็กเป็นสีอะไร ในขณะเย็นลง คมมีดจะเปลี่ยนจากสีขาวค่อยๆ เป็นสีออกเหลืองกินเข้าไปในมีดและกระจายเป็นสีเขียวปีกแมลงทับแผ่เข้าไปในส่วนที่เป็นตัวมีดมากขึ้น
        3. เมื่อเหล็กเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ให้รีบจุ่มมีดลงในอ่างน้ำทันทีจนกว่าจะเย็นแล้วจึงนำขึ้น

เคล็ดลับ  การชุบคมมีดเป็นขั้นตอนการทำอย่างละเอียด แม่นยำ หากชุบเร็วไปเหล็กเป็นสีขาวจะทำให้มีดเปราะ บิ่น หักง่าย แต่ถ้าชุบนานไป เหล็กจะกลายเป็นสีเขียวมาก จะทำให้มีดอ่อนไม่แข็ง คม และบิดเบี้ยวได้ง่าย
วิธีการแก้ไข นำมีดไปเผาไฟใหม่ แล้วนำมาชุบน้ำตามกระบวนการอีกครั้งจนกว่าจะได้คมมีดตามต้องการ

การตกแต่ง
        เมื่อผ่านการชุบคมมีดด้วยน้ำแล้ว นำมีดมาตกแต่งด้วยการเจียรหรือตะไบ ให้เรียบร้อยอีกครั้ง มีดบางประเภท อาจจะมีซองหนังหรือซองไม้ สำหรับเก็บมีดให้เรียบร้อยหรือสวยงามเพื่อเพิ่มคุณค่า เช่น มีดพก มีดดาบ

 

 

 

 
footerBG1

หน้าแรก | ประวัติความเป็นมา | กระบวนการตีมีด | ผลิตภัณฑ์
เอกลักษณ์ | วิถีชีวิต...คนตีมีด | รางวัลเกียรติยศ | รายการอ้างอิง | คณะผู้จัดทำ

© 2013 ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
111 ถนนมหาวิทยาลัย ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 30000 โทร 0-4422-3061 โทรสาร 0-4422-3060